เทคโนโลยีอวกาศกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ

ทั่วโลกกำลังประสบปัญหากับภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และเป็นอีกสาเหตุของการเกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วมในหลายภูมิภาค ในห้วงทศวรรษปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นโดยเฉพาะปี 2564-2565 และสภาวะความแห้งแล้งและไฟป่าหมอกควันในปี 2566 ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างมาก การติดตามสถานการณ์เพื่อบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (from monitoring to management) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะภาวะวิกฤตที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ (geospatial data) ที่มีความถูกต้องเชิงพื้นที่สูงและใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน (near real-time) 

ดาวเทียม (Satellite) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของเทคโนโลยีอวกาศ (Space technology) ในการสำรวจและเก็บข้อมูล โดยเฉพาะดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Earth Observation Satellite) ที่มีการบันทึกข้อมูลครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง (Synoptic view) การบันทึกภาพซ้ำบริเวณเดิมในแต่ละช่วงเวลา (temporal resolution) อีกทั้งมีความหลากหลายช่วงคลื่น (spectral resolution) และรายละเอียดเชิงพื้นที่ (spatial resolution) ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้สามารถศึกษาสภาพแวดล้อมและปรากฎการณ์ต่างๆ บนพื้นโลกในบริเวณกว้างได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมีการพัฒนาเป็นอย่างมากและตอบโจทย์การใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การติดตามความชื้นในดินจากดาวเทียม Soil Moisture Active Passive (SMAP) การตรวจวัดคุณภาพอากาศ (air pollution) จากดาวเทียม Sentinel-5P และดาวเทียม Landsat ที่มีการนำมาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่มากกว่า 30 ปี 

ด้วยข้อดีของข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศ (space-based data) สามารถนำมาใช้ในการติดตาม (monitoring) ตรวจวัด (measuring) วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นโดยใช้แบบจำลอง(Modelling) และการประมวลผลด้วย AI/ML สำหรับการบริหารจัดการ (management) ในรูปแบบต่างๆ การใช้เทคโนโลยีนี้จึงถูกระบุไว้เป็นส่วนหนึ่งในการได้มาของข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤต (UNOOSA, 2024) กล่าวคือ สามารถนำมาใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ตามห้วงเวลา (time series changes) เช่น การติดตามการเพาะปลูกพืช (crop monitoring) การเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมดิน (land cover change) การติดตามพื้นที่ป่าไม้ (deforestation) การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวน้ำ (water surface) ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น และการขยายตัวของเมือง (urban growth) (ภาพที่  1) เป็นต้น

ภาพที่  1 ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-5 และ Sentinel-2 บันทึกภาพเดือนพฤศจิกายน 2553 และกุมภาพันธ์ 2564 แสดงการขยายตัวของที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บริเวณโดยรอบของนิคมอุตสาหกรรมบางปูและบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และตะกอนตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย 

เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้น เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ประเมินขอบเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อให้ความช่วยเหลือและวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ เช่น พื้นที่น้ำท่วม-น้ำแล้ง (floods & droughts) พื้นที่เกิดดินถล่ม (landslides) พื้นที่เผาไหม้จากไฟป่า (burn areas) การกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) และคลื่นซัดฝั่ง (storm surge) เป็นต้น หรือก่อนเกิดภัยพิบัติเป็นการคาดการณ์ (forecast) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ได้เช่นกัน

ในภาวะเร่งด่วนภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการบันทึกข้อมูลไว้อย่างต่อเนื่องสามารถนำมาใช้เปรียบเทียบก่อนและหลังเกิดภัยพิบัติ โดยเป็นข้อมูลสำหรับการประเมินพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในเบื้องต้น (Rapid Impact Assessment) และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม (ภาพที่  2)  

ภาพที่  2 เปรียบเทียบภาพก่อน-หลังพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม (สีตะกอนเข้ม) บริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อประเมินพื้นที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น 

ในช่วงฤดูฝนของทุกปี ปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในแต่ละพื้นที่ ภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการบันทึกข้อมูลใกล้เคียงกับสถานการณ์ทั้งระบบเรดาร์ (radar) ที่สามารถถ่ายภาพทะลุเมฆหมอก และระบบเชิงแสง (optical) ที่อาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์และบันทึกภาพได้ดีในเวลากลางวัน (ภาพที่  3) จะนำมาสกัดข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมขัง (inundated areas) วิเคราะห์ระดับความลึก (flood depth analysis) และซ้อนทับกับข้อมูลเศรษฐกิจ-สังคม (socio-economic data) เช่น ขอบเขตการปกครอง พื้นที่เพาะปลูก ประชากร และสถานที่ราชการ เป็นต้น (ภาพที่  4) และจัดทำเป็นแผนที่(map) เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเป็นธรรมต่อไป

ภาพที่  3 ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมระบบเรดาร์ (ซ้าย) และระบบเชิงแสง (ขวา) สำหรับใช้ในการติดตามพื้นที่น้ำท่วมขัง (ที่ปรากฎเป็นสีดำบนภาพ) บริเวณบางส่วนของจังหวัดนครสวรรค์และพิจิตร 
ภาพที่  4  แผนที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมขังวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมทั้งแสดงระดับความลึกของน้ำท่วม และประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ-สังคม 

ในช่วงฤดูแล้ง ความแห้งแล้งจากสภาพอากาศที่ร้อนและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (relative humidity) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดความรุนแรงและลุกลามของไฟป่าในพื้นที่ได้ ภาพถ่ายดาวเทียมจะนำมาสกัดข้อมูลเพื่อบ่งชี้ภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ดัชนีความแตกต่างของพืชพรรณ (Normalized difference vegetation index: NDVI) เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงพื้นที่ภัยแล้งที่ได้จากการคำนวณค่าการสะท้อนในภาพถ่ายดาวเทียม โดยอาศัยหลักการพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ว่า “บริเวณที่ประสบสภาวะภัยแล้ง มักจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของพืชพรรณ” ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการนำหลากหลายดัชนีมาใช้ในการติดตามความแห้งแล้งในรูปแบบต่างๆ เช่น ดัชนีชี้วัดพืชพรรณ (Vegetation Condition Index: VCI) ดัชนีเสี่ยงภัยแล้ง (Drought Risk Index: DRI) และดัชนีความแตกต่างความชื้นในพืชพรรณ (Normalized Difference Water Index: NDWI) (ภาพที่  5) เป็นต้น 

ภาพที่  5 ดัชนีความแตกต่างความชื้นในพืชพรรณ (NDWI) ห้วงวันที่ 16-23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสีแดงเข้มแสดงความชื้นในพืชพรรณต่ำ 

ในกรณีประสบภาวะภัยแล้งเนื่องจากการขาดแคลนน้ำ (water scarcity) ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถนำมาใช้ติดตามพื้นผิวน้ำและประเมินปริมาตรน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ได้ โดยพิจารณาจากขนาดของพื้นผิวน้ำ (size) ที่ปรากฎบนภาพถ่ายดาวเทียมต่างช่วงเวลา (multi-temporal images) (ภาพที่  6) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

ภาพที่  6 ภาพถ่ายดาวเทียมหลายช่วงเวลา (Time series images) แสดงการติดตามพื้นผิวน้ำของทะเลสาบดอยเต่า (เหนือเขื่อนภูมิพล) จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพแถวบน) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-8,9 สามารถสังเกตได้ชัดว่าพื้นผิวน้ำหายไป และภาพแถวล่างแสดงเขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 (รายละเอียดภาพ 10 ม.) โดยภาพขวาสุดเป็นการใช้ภาพสีผสมของช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (Near Infrared band) แสดงพื้นผิวน้ำที่ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ (สีเหลือง) และเมษายน (สีแดง) ตามลำดับ

เมื่อเกิดไฟป่า ชุดข้อมูล Active fire hotspots หรือจุดความร้อน ถูกนำมาใช้ในการติดตามและตรวจจับพื้นที่ที่อาจจะเกิดไฟ โดยข้อมูลนี้หมายถึงจุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก โดยใช้อุปกรณ์การตรวจวัดค่าความร้อน (Thermal sensor) ที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียม โดยการได้มาซึ่งข้อมูลจุดความร้อนอาศัยหลักการดาวเทียมสามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟาเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ จากนั้นประมวลผลและแสดงในรูปแบบจุด (point)

ปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลจุดความร้อนติดตามสถานการณ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 8 ครั้งต่อวัน โดยใช้ข้อมูล MODIS (ดาวเทียม Terra และ Aqua) และข้อมูลVIIRS (ดาวเทียม Suomi NPP และ NOAA-20) ซึ่งข้อมูลนี้จะนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าพบในพื้นที่ใดบ้าง เช่น พื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า หรือพื้นที่ชุมชน เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ได้มีการดำเนินการตามมาตรการและภารกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการวิเคราะห์ความหนาแน่นของการกระจุกตัว (cluster) ของจุดความร้อนเพื่อให้สามารถจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ในการบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลายหน่วยงานมีการนำข้อมูลจุดความร้อนไปใช้ในการเฝ้าระวังและบริหารจัดการพื้นที่อย่างต่อเนื่อง (ภาพที่  7)

ภาพที่  7 ภาพถ่ายดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ซ้อนทับด้วยจุดความร้อน (สีแดง) วันที่ 27 มีนาคม 2567 (จากเว็บไซด์ NASA Worldview Snapshots) และแผนที่แสดงจุดความร้อนในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน (จากเว็บไซด์ disaster.gistda.or.th)  

นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังสามารถนำมาใช้ในการติดตามกลุ่มหมอกควัน (smoke and haze) ที่เกิดจากการเผาไหม้ในแต่ละพื้นที่ โดยใช้ช่วงคลื่นสีแดง (Red) สีเขียว (Green) และสีน้ำเงิน (Blue) นำมาทำภาพสีผสมจริง (true color composite) (ภาพที่ 8) และสามารถวิเคราะห์พื้นที่เผาไหม้ (burned area) โดยใช้ช่วงคลื่นอินฟราเรดสั้น (Shortwave infrared: SWIR) อินฟราเรดใกล้ (Near infrared: NIR) และสีแดง (Red) มาจัดทำเป็นภาพสีผสมเท็จ (false color composite) แยกแยะพื้นที่เผาไหม้และไม่เผา รวมทั้งการติดตามแนวหัวไฟ (active fires) ได้อย่างชัดเจน (ภาพที่  9)  ซึ่งจากข้อมูลนี้จะนำมาจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่เผาไหม้สำหรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้บริหารจัดการในระดับพื้นที่ต่อไป (ภาพที่  10)

ภาพที่ 8 ภาพสีผสมจริงจากดาวเทียม Landsat-8 บันทึกภาพวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณโดยรอบของเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี แสดงกลุ่มควันไฟ (smoke plume) และหมอกควัน (Haze) ที่เกิดจากการเผาไหม้
ภาพที่  9 ภาพสีผสมเท็จของช่วงคลื่น SWIR, NIR, Red จากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2A บันทึกภาพวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณบางส่วนของอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงพื้นที่เผาไหม้ (สีชมพูเข้ม) และหัวไฟ (active fires) 
ภาพที่  10 แผนที่แสดงพื้นที่เผาไหม้เดือนมีนาคม 2567 วิเคราะห์จากภาพดาวเทียม Landsat-8 

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลภัยพิบัติย้อนหลังที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศมากกว่า 10 ปี พบว่า พื้นที่ประสบภัยพิบัติส่วนใหญ่ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่าหมอกควัน มักจะเป็นพื้นที่ประสบภัยทุกปี แต่ความรุนแรงในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน เนื่องจากปัจจัยเรื่องสภาพทางพื้นที่ (กายภาพและแวดล้อม) และสภาวะอากาศ (weather) ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับปรากฎการณ์เอนโซ (ENSO) ดังเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 และ 2565 ประเทศไทย ณ ขณะนั้นอยู่ในสภาวะลานีญา (La Nina) ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากย้อนหลัง และพื้นที่น้ำท่วมปี 2554 ก็จะเป็นขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมเดิม และมักจะเกิดในช่วงเวลาเดียวกัน (ราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี) 

ภาพที่  11 เปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมเดือนตุลาคม 2554 (ซ้าย) เดือนตุลาคม 2565 (กลาง) และน้ำท่วมซ้ำซาก (ขวา) วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลัก 

การคาดการณ์สภาวะภัยแล้งโดยพิจารณาจากข้อมูลความชื้นในพืชพรรณ (NDWI) ย้อนหลัง 10 ปี (2555-2565) ในห้วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม  พบว่า พื้นที่ตอนบนของประเทศโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง บางส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันตก มีความชื้นต่ำโดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมและพบความชื้นต่ำมากสูงสุดเดือนมีนาคม และความชื้นจะเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติถึงสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสอดคล้องกับฤดูกาลของประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในทุกปี (ภาพที่  12) ทั้งนี้ หากนำข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้า เช่น ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ความชื้นสัมพัทธ์ และอุณหภูมิสูงสุด เป็นต้น นำมาวิเคราะห์และคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังต่อภัยแล้ง หรือสภาวะการขาดแคลนน้ำ (water scarcity) ได้อีกทางหนึ่ง 

ภาพที่  12 ดัชนีความแตกต่างความชื้นในพืชพรรณของเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมในห้วง 10 ปี (2555-2565) โดยสีแดงเข้มแสดงความชื้นในพืชพรรณต่ำโดยเฉพาะเดือนมกราคมถึงเมษายน 

ในห้วงฤดูแล้ง ประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่เกษตร ซึ่งสภาวะอากาศที่แห้งแล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เอื้อต่อการลุกลามและความรุนแรงของไฟในแต่ละพื้นที่ได้ ยกตัวอย่าง ปี 2566 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะเอลนิโญ จำนวนจุดความร้อนที่ตรวจพบในห้วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน มีจำนวนมากกว่า 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะลานีญา (ภาพที่  13) และเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562-2564 พบจุดความร้อนสูงมากและมีความใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า หากยังปล่อยให้มีการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าและไม่ใช่ป่าในห้วงสภาวะที่อากาศร้อนแห้งแล้งรุนแรงนั้น ก็จะทำให้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและค่าคุณภาพอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 เลวร้ายเพิ่มมากขึ้น

ภาพที่  13 เปรียบเทียบปรากฎการณ์ ENSO กับจุดความร้อนที่ตรวจพบตั้งแต่ปี 2562-2567 มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ จำนวนจุดความร้อนในห้วงสภาวะเอลนิโญจะสูงกว่าจุดความร้อนในห้วงปีที่อยู่ในสภาวะลานีญา (2565) 

ข้อมูลในอดีตสามารถบ่งชี้ได้ในเบื้องต้นว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติในห้วงเวลาที่แตกต่างกันตามปฏิทินฤดูกาลของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรตระหนักและเฝ้าระวัง คือ พื้นที่ที่ไม่เคยเกิดภัยพิบัติมาก่อน เนื่องจากประชาชนอาจมิได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก รวมทั้งพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก ซึ่งทั้งสองพื้นที่นี้ควรมีการวางแผนและบริหารจัดการให้เหมาะสม

จากข้างต้น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศ สามารถนำมาใช้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ ในการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจวัด วิเคราะห์และประมวลผลในแบบจำลอง เพื่อนำไปสู่การสร้างสถานการณ์จำลองและคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ (risk assessment) สำหรับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า (early warning) ได้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือโดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการ/นโยบายตามบริบทของพื้นที่ในระยะยาว เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อให้การพัฒนาต่างๆ ที่ภาครัฐมีการลงทุนมีความยั่งยืนและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงบนพื้นฐานของความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยได้มีการพัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกและส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมดวงที่สองที่มีรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตร (ต่อพิกเซล) (ภาพที่  16) นับว่าเป็นดาวเทียมที่มีรายละเอียดสูงมาก ช่วยให้สามารถแยกแยะประเภทของวัตถุในภาพได้เป็นอย่างดี

เมื่อเกิดภัยพิบัติจะช่วยให้จำแนกพื้นที่ประสบภัยได้ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อการช่วยเหลือและชดเชยเยียวยาได้อย่างเป็นธรรมในภาวะวิกฤต จึงนับได้ว่าภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสำรวจโลก และมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามและตรวจสอบพื้นที่ในเกิดภัยพิบัติไม่เพียงแต่ในประเทศไทยและทั่วโลก

ภาพที่  16  ภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 บันทึกภาพวันที่ 21 มกราคม 2567 เหนือพื้นที่สนามหลวงและแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร (จากเว็บไซด์ GISTDA) โดยสามารถสังเกตเรือ รถยนต์ และอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อย่างชัดเจน 

References:

กรมอุตุนิยมวิทยา. 2567. การเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ/ลานีญา. แหล่งที่มา : https://tmd.go.th/media/el-nino-la-nina/elnino-lanina-2022-05-25.pdf, สืบค้นวันที่ 27 มิถุนายน 2567. 

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ. 2567. THEOS-2 First Image. แหล่งที่มา : https://theos2firstimage.gistda.or.th/, สืบค้นวันที่ 27 มิถุนายน 2567. 

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ. 2567. สรุปสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน (Fire dashboard). แหล่งที่มา : https://fire.gistda.or.th/dashboard.html, สืบค้นวันที่ 27 มิถุนายน 2567. 

Copernicus Climate Change Service. 2019. – with major processing by Our World in Data. “Annual average” [dataset]. Copernicus Climate Change Service, “ERA5monthly averaged data on single levels from 1940 to present 2” [original data].

NASA Worldview Snapshots. 2024. Worldview Snapshots. Available source: https://wvs.earthdata.nasa.gov/, 20 June 2024. 

Svoboda, M.D. and Fuchs, B.A. 2016. Handbook of drought indicators and indices (Vol. 2). Geneva, Switzerland: World Meteorological Organization.

UNOOSA. 2024. Space Supporting the Sustainable Development Goals. Available source: https://www.unoosa.org/oosa/en/ourwork/space4sdgs/index.html, 27 June 2024.

 

แชร์บทความนี้