วิจัยไทบ้าน แปลงร่าง “นักรบผ้าถุง” สู่ “นักวิจัย” เพื่อชุมชน

“เป็นทุกอย่างเพื่อเธอ ทะเลที่รัก” คงไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยไปนัก สำหรับกลุ่มนักรบผ้าถุง แม่บ้านชุมชนประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลจะนะ จ.สงขลา เมื่อวันนี้พวกเขาทำหน้าที่เป็นนักวิจัยไทบ้าน เพื่อนำไปสู่แนวทางการปกป้องรักษาบ้านเกิดด้วยวิถีแบบนักวิชาการ แต่ยังคงตัวตน และวิถีแบบคนสะกอม ชุมชนชายฝั่งทะเลอย่างเต็มเปี่ยม

ภาพโดย : ปุณรดา คชรัตน์

นักวิจัยธรรมดา ที่สังเกต บันทึก สัมภาษณ์ ถอดความรู้ที่ติดตัวมาจากประสบการณ์ในท้องทะเล เก็บข้อมูลระบบนิเวศลมและการประมง สำรวจชนิดพันธุ์กุ้ง หอย ปู ปลา หมึก และชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญอื่น ๆ ในทะเลหน้าบ้าน รวมถึงศึกษาระบบเศรษฐกิจและโลกทัศน์ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่บ้านปากบาง-บ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อนจะเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ไปสู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาชายฝั่งทะเลจะนะ

“เรารู้ว่าทะเลบ้านเรามันฉ้าน (มีสัตว์น้ำเยอะ) แต่ที่บอกกันว่าเยอะ เราก็ไม่รู้ว่าเยอะแค่ไหน”

ไรหนับ เส็น หรือนิเหนับ สมาชิกนักรบผ้าถุง แม่บ้านชาวประมงพื้นบ้านชุมชนปากบาง-บ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เล่าถึงสภาวะก่อนหน้าของชุมชนพวกเขา ที่ถึงแม้จะรู้ว่ามีทรัพยากรเยอะ แต่ก็ไม่เคยสามารถนำออกมายืนยันเป็นข้อมูลเชิงวิชาการได้เลย

“พวกเราเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย แต่เมื่อมีการเข้ามาของงานวิจัยไทบ้าน ชวนให้เราได้เรียนรู้ เก็บข้อมูลสัตว์น้ำในทะเลของเรา ซึ่งการทำงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากหากเราตั้งใจทำมัน แม้พวกเราจะเรียนจบ ป.4-ป.5 แต่ถ้าเราตั้งใจจริงก็สามารถทำได้”

“เราไม่เข้าใจว่าวิจัยไทบ้านคืออะไร แต่เมื่อได้ทำ ได้เรียนรู้ ทำให้เราได้รู้ว่าการทำวิจัยไทบ้านนั้นเพื่อให้เรารู้ว่าสัตว์น้ำบ้านเรา เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน รู้ว่าเศรษฐกิจในชุมชนของเราเริ่มมาทะเล จากชาวประมงมาสู่ชาวบ้าน แล้วแพร่กระจาย(รายได้)ไปทั่วชุมชน มีร้านค้า อู่ซ่อมเรือ ร้านขายของชำ มีแพปลา และอาชีพต่อเนื่องอื่น ๆ อีกมาก เราภูมิใจมากเมื่อรับรู้ว่าอาชีพเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันจำนวนมาก”

นี่ถือเป็นครั้งแรกของชุมชนแห่งนี้ ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมโดยตรงกับงานวิจัยในหัวข้อประเด็น “นิเวศวิทยาของชาวประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งทะเลจะนะ จังหวัดสงขลา” เปลี่ยนจากบทบาทชาวประมงพื้นบ้าน แม่บ้าน แม่ค้า สู่การเป็นผู้เรียนรู้ ศึกษา และเป็นอาจารย์ในยามที่ต้องให้ความรู้กับพาร์ทเนอร์ที่ร่วมทำการเก็บข้อมูลงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเป็นสองนักศึกษาชาวอีสาน ที่เดินทางมาฝังตัวอยู่ในชุมชนร่วม 10 เดือน

ผลของงานวิจัยครั้งนี้ระบุว่าระบบเศรษฐกิจในชุมชนบ้านปากบาง-บ่อโชน เป็นเศรษฐกิจแบบตลาดภายในชุมชน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ชาวประมงที่ออกเรือและขายปลาเอง 
  2. คนภายในหมู่บ้านที่รับซื้อปลาจากชาวประมงเพื่อนำไปขายต่อ ชาวประมงพื้นบ้าน ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของแพปลา รับซื้อปลาจากชาวประมงภายใน
  3. ชาวประมงพื้นบ้านหรือคนภายในชุมชนที่รับซื้อปลานำมาแปรรูปขายภายในตลาด คนภาย ในหมู่บ้านที่ไม่ได้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่ผันตัวมารับซื้อปลาจากชาวประมง เพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้ารูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนิหนับ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

“ประมงคือตัวหลักในการกระจายรายได้ ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาไม่ได้ออกเรือเศรษฐกิจที่นี่จะซบเซา”

สุธาสินีย์ จันทรเสนา นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างอาชีพประมงพื้นบ้านกับอาชีพอื่น ๆ ในชุมชนบ่อโชน-ปากบาง อ.สะกอม จ.สงขลา ที่เธอและเพื่อนร่วมกับชาวบ้านเก็บข้อมูลทั้งจากตัวบุคคล และสัตว์น้ำที่สามารถพบเจอได้ทุกเช้าที่ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือ

“ชาวประมงก่อนจะออกเรือ จะไปซื้อน้ำชา  ทำให้ร้านน้ำชามีรายได้ แล้วกระจายไปให้ร้านขายของอื่น ๆ ที่ร้านน้ำชาไปซื้อมา เพราะวิถีของคนที่นี่จะดื่มชาทั้งช่วงเช้าและตอนเย็น หรือร้านขายอาหารตอนเช้าที่กลุ่มลูกค้าหลักคือชาวประมง ก่อนออกเรือก็จะมาซื้อ และเมื่อกลับเข้าฝั่งก็จะมาซื้ออีก ทำให้เราเห็นว่าประมงคือลูกค้าหลัก คือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของที่นี่”

ด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้ริเริ่มนำนักศึกษาจากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาทำงานวิจัยไทบ้านในชุมชนชายฝั่งทะเลจะนะ มองว่าจุดแข็งสำคัญของกลุ่มนักรบผ้าถุงคือการทำงานด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตลอด ซึ่งการวิจัยไทบ้านชิ้นนี้จะทำให้ชุมชนมีหลักฐานทางวิชาการที่ใช้บอกเล่ากับสังคมได้

“ชุมชนที่นี่มีแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด เพียงแต่พวกเขาไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่จะมายืนยัน งานวิจัยไทบ้านที่นี่ เราอยากนำไปสู่การประกาศให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะเป็นพื้นที่อนุรักษณ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง และอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง โดยให้ชุมชนประกาศ(เขตคุ้มครองฯ) แล้วรัฐรับรอง ผมว่าจะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในบริเวณชายฝั่งทะเลจะนะอย่างแท้จริง”

มีการสำรวจข้อมูลจากการทำวิจัยไทบ้าน พบตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในชุมชนบ้านบ่อโชน ครอบครัวที่มีอาชีพปลดส็อกแส็ก 15 ครอบครัว ซึ่งจะมีรายได้ตั้งแต่วันละ 100-500 บาท ต่อคน และเป็นหนึ่งในอาชีพที่รองรับกลุ่มคนเปราะบางของชุมชนอย่างกลุ่มผู้สูงอายุ

“ส็อกแส็ก” เป็นคำในภาษาใต้มีความหมายว่า “เล็ก ๆ น้อย ๆ” และเป็นคำที่ชาวประมงพื้นบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา นำมาใช้เรียกซากหอยและซากสัตว์น้ำ ที่ติดมากับเครื่องมือประมง(อวนกุ้ง อวนปู) ทุกวันนี้การปลดส็อกแส็ก กลายเป็นอาชีพ ที่ต่อยอดจากความสมบูรณ์ของทะเลจะนะ และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่แม้จะไม่มีเรือออกไปจับสัตว์น้ำ ก็สามารถมีรายได้จากทะเลแห่งนี้

“ถ้าอุตสาหกรรมเข้ามา คนกลุ่มแรกที่จะหายไปคือชาวประมง เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามา ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาต่าง ๆ จะส่งผลกระทบที่ทำให้ชาวประมงไม่สามารถออกเรือได้ เศรษฐกิจในชุมชนก็จะซบเซาลง รวมถึงร้านอาหารที่ขายให้กับชาวประมงเป็นหลักก็จะลดลง รวมไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาก็จะลำบากด้วย เพราะไม่มีทรัพยากรให้ทำมาหากิน ทำให้ต้องเดินทางออกไปนอกพื้นที่ เพื่อจะทำมาหากิน สร้างรายได้ ซึ่งจะเกิดผลกระทบหลายอย่าง แต่คนกลุ่มแรกที่จะหายไปคือชาวประมง”  สุธาสินีย์ จันทรเสนา

“เราไม่เคยคิดว่าจะได้ทำงานวิจัยเลย แต่การทำงานวิจัยไทบ้านชิ้นนี้เป็นครั้งแรกของกลุ่มนักรบผ้าถุง และเราดีใจมากที่มีวันนี้ ทำให้พวกเราได้ลงมือทำเอง สื่อสารด้วยตัวเอง และสามารถเก็บข้อมูลออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นนี้ได้ ทำให้เราสามารถนำเอาข้อมูล(จากงานวิจัยนี้)ไปยืนยันกับรัฐบาลได้ เพื่อจะไม่ยอมรับโครงการฯ (นิคมอุตสาหกรรมจะนะ) ที่จะลงมาในพื้นที่ นี่จะเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่าจะนะของเรามีความยั่งยืน”

ไรหนับ เส็น นักรบผ้าถุง
แชร์บทความนี้