เดบิวต์ Public Intelligence สังคมจะฉลาดขึ้นด้วยการจับมือรวมกลุ่ม

เมื่อสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสื่อสาธารณะ ได้นำแนวคิดปัญญารวมหมู่ Collective Intelligence มาปรับใช้กับสื่อสาธารณะ และการทำงานร่วมกับภาควิชาการ ท้องถิ่นและกลุ่มคนที่สนใจอยากเปลี่ยนแปลงสังคมหาทางออกร่วมกัน เปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือ เทคโนโลยีและข้อมูล เพราะความรู้ไม่ได้กำจัดแค่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น คนในท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายได้ 

โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จึงจัดกิจกรรม PI Networking & Soft Launch เมื่อสื่อสาธารณะเริ่มใช้แนวคิดปัญญารวมหมู่ เราจะจัดการเรื่องยากๆ อย่างชาญฉลาดร่วมกันได้อย่างไร? เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 เพื่อเปิดให้ผู้สนใจเข้ามารับฟัง เรียนรู้ความหมายของที่มา Collective Intelligence คืออะไร ทำไมไทยพีบีเอสถึงนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้

ทำไมถึงต้อง Collective Intelligence

เหตุผลหลัก 3 ประการสำคัญที่ไทยพีบีเอสคิดว่ามีคุณค่ากับประโยชน์สื่อสาธารณะ และหยิบยกเอาแนวคิดปัญญารวมหมู่ Collective Intelligence มาใช้ ได้แก่

  1. Deliberation การตัดสินใจร่วมกันแบบไตร่ตรอง เป็นกระบวนการที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหาและตัดสินใจ โดยมีสื่อสาธารณะที่เป็นประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูล ถกเถียงกันโดยไม่มีไบแอสหรืออคติ (Bias) แล้วนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกัน
  2. Insight & Foresight การคาดการณ์อนาคต ในเรื่องที่มีความซับซ้อนซึ่งจะต้องมีการทำความเข้าใจเชิงลึกขึ้นและมองเป็นพลวัต เพื่อจำลองภาพอนาคต และหาทางรับมือกับความไม่แน่นอนรูปแบบต่าง ๆ
  3. Public Benefit เครื่องมือนี้สำคัญในการเอามาตอบโจทย์กับประเด็นสื่อสาธารณะ

ไทยพีบีเอส โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสื่อสาธารณะ มีเป้าหมายสำคัญในการใช้เครื่องมือนี้คือ การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ (re-designing) ระหว่างประชาชน รัฐ และข้อมูลกับเทคโนโลยี เคารพคนทุกฝ่ายและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้เปลี่ยนการบ่นปัญหาต่างๆ มาเป็นการตั้งโจทย์ร่วมกัน มองเป็นโอกาสในการแก้ปัญหา ร่วมกันหาทางออกกับทุกฝ่าย

ตัวอย่างกรณีของเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่มีปัญหาเรื่องหมอกควันมีจุดติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ถึง 10 จุด เลยนำปัญหานี้มาเป็นตัวตั้งให้พลเมืองช่วยกันคิด จะแก้ปัญหาอย่างไรดี จึงร่วมกันพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ ‘Citizen Sensing Toolkit’ ที่พลเมืองอาสาสมัครเข้ามาทำตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญ จนถึงประชาชนทั่วไป กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม จากการแก้ปัญหาบนสู่ล่างมาเป็น ล่างขึ้นบนแทน และยังมีเครื่องมือเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาด้วย

ทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ Public Intelligence ไทยพีบีเอส จึงตั้งขึ้นมาเป็นสื่อสาธารณะ (public media service) มองการทำงานกับผู้คนที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสื่อสาธารณะ มีเครือข่ายสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ทำเรื่องสื่อในประเด็นสาธารณะท้องถิ่น อีกส่วนเชื่อว่าข้อมูลที่มีรอบด้านหลายมิติ รวมถึงมีเทคโนโลยีเข้ามาเสริม และตั้งเอาทั้ง 3 ส่วนคือ ผู้คน (people) ข้อมูล (data) และเทคโนโลยี (technology) มาเป็นโมเดลในการทำงานของทีม 

ตัวอย่างที่ผ่านมาเช่น เรื่องการทำฝุ่นควันในภาคเหนือ ในช่วงแรกยังไม่มีใครรู้ว่าฝุ่นหน้าตาเป็นอย่างไร สถานีวัดฝุ่นก็มีน้อยมาก เลยใช้เครื่องมือ C-site ทำแผนที่ smart censor วัดฝุ่น อธิบายภาพเพิ่มว่าเครื่องวัดฝุ่นกระจุกตัวอยู่ตรงไหน พื้นที่ไหนที่ยังขาดไป อีกประเด็นคือเรื่องปลาหมอคางดำ ที่ตั้งต้นประเด็นปัญหามาจากคนในพื้นที่ รายงานปักหมุดเข้ามาผ่าน C-site ที่ทางสำนักสนับสนุนให้และสื่อสารขยายประเด็นต่อ ให้เกิดการรับรู้สาธารณะเพิ่มขึ้น 

Road Map และเป้าหมายอนาคต

เริ่มจากปลายทางอยากชวนคนที่สนใจเรื่องนี้มาเป็นเจ้าของร่วมกัน social enterprise เหมือนสหกรณ์ที่มีความอิสระในการเลือกประเด็น ให้บริการสาธารณะกับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลท้องถิ่น สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัย 

ส่วนช่วงต้นปีหน้าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการร่วมกับ NESTA ยกระดับให้เป็นสากลมากขึ้น จะจัด monthly forum ทุกเดือนทางออนไลน์ ซึ่งใครมีประเด็นที่อยากจะทำเสนอแลกเปลี่ยน ทีมจะทำหน้าที่บันทึกให้ Public Talk Series เชิญวิทยากรที่เกี่ยวข้องมาคุยกันทุก 3 เดือน รวมถึงเปิดบริการต่างๆ ให้ทุกคนมาใช้ได้

ในปีนี้จึงเริ่มจากเปิดตัว soft launch ไอเดียให้ทุกคนเห็นสนใจมาร่วมตั้งแต่ต้น และเป็นคนกลางในการ สร้างเครือข่าย (community practice) รวบรวมเนื้อหาเครื่องมือที่สำคัญขึ้นใน demo website  ให้ทุกคนเข้ามาใช้ได้ และทดลองพื้นที่กลางในการถกเถียงร่วมกัน มีโปรโตไทป์ตั้งต้นไว้ เช่น

พ.ร.บ. อากาศสะอาด (crowdlaws)
Participatory Budgeting ระดับเทศบาล
วารสารดิจิทัล ประชาธิปไตย ไทยไทย Very Thai Democracy Long-form
Interactive Journal (Public Crowdsourcing)

ในเชิงเนื้อหาและเว็บไซต์ มีเป้าหมายจะพัฒนา longform Interactive Journals 2024 ทั้งหมด 8 ประเด็นสาธารณะสำคัญทั่วภูมิภาคมาทำ  ได้แก่

  1. ประชาธิปไตย ไทยไทย (Very Thai Democracy) 
  2. อากาศสะอาด? เพื่อทุกคน (Clean air for all) 
  3. ผืนป่าตะวันตกสู่มรดกโลก (Western Forest Complex) 
  4. รู้ทันน้ำ (River Basin Management) 
  5. อีสานสู่โลก (ISAN Softpower)
  6. ตะวันออกพัฒนา (Inclusive EEC) 
  7. กรุงเทพฯ สาธารณะ (BKK Green & Mobility)
  8. อนาคตด้ามขวาน (Southern Megaprojects) 

ข้อเสนอ/ประเด็นที่อยากทำร่วมกับไทยพีบีเอส

จากแบบสอบถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 7 คน ส่วนใหญ่สนใจพัฒนาโปรเจ็คร่วมกันในลักษณะ partnership รองลงมาคือเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในเวทีประชุมหรือเสวนา

ส่วนประเด็นหรือหัวข้อที่เสนอเพิ่มเติม ได้แก่ การติดตามข้อมูลด้านความขัดแย้ง/ความรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย, ประเด็นสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่, รู้ทันน้ำ, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, และการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาจังหวัด, อากาศสะอาด และการพัฒนาเมือง เป็นต้น

หากมีข้อเสนอเพิ่มเติมหรือสนใจอยากทำประเด็นข้างต้นร่วมกับทางทีม สามารถคลิกลิงก์ https://tally.so/r/wkZV6r หรือ ติดต่อได้ทาง [email protected] 

แชร์บทความนี้