เรือ สายน้ำกับความหวังในการเดินทางของครูโรงเรียนห้วยต้าวิทยา

ครูทุกคนลงเรือเดียวกันแล้ว

คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงไปนักสำหรับครูและบุคลากรทั้ง13 คนของโรงเรียนบ้านห้วยต้าวิทยา ตำบลนางพยา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะในทุกเย็นวันศุกร์ ครูส่วนใหญ่จะต้องนั่งเรือไม้ติดเครื่องยนต์ อายุราว 10 ปี เพื่อออกเดินทางจากชุมชนไปยังตัวอำเภอท่าปลาเพื่อกลับบ้าน และซื้อของใช้จำเป็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก เนื้อสัตว์ วัตถุดิบสำหรับอาหารกลางวัน หรืออุปกรณ์ประกอบการเรียนต่างๆ  แล้วเดินทางกลับในช่วงเย็นวันอาทิตย์เพื่อนักเรียน 46 ชีวิต ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่3 ของโรงเรียนขยายโอกาสที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนสิริกิตติ์แห่งนี้

โรงเรียนห้วยต้าวิทยา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3

การสัญจรทางเรือนี่คือเส้นทางสัญจรหลักทางเดียวที่ครู นักเรียนและคนในชุมชนใช้เพื่อจะออกไปยังภายนอก ด้วยระยะทางทางน้ำ 25 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาราว 2 ชั่วโมง เนื่องจากถนนหนทางที่นี่ไม่ได้เชื่อมต่อกับเส้นอื่น จากการอพยพออกจากพื้นที่เดิมเพื่อสละที่อยู่อาศัยให้กับการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และปิดกั้นกระแสน้ำเขื่อนสิริกิติ์ในปี พ.ศ. 2514 ทำให้ตอนนี้ 148 หลังคาเรือน กับประชากรราว 570 ชีวิต กลายเป็นหมู่บ้านกลางหุบเขา และหากจะเดินเท้าออกไปก็ต้องใช้เวลาราว 1-2 วัน ผ่านเขตป่าสูงชันของป่าสงวนแห่งชาติป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา และอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน หรือจะได้รถมอเตอร์ไซต์วิบากก็ต้องมีความชำนาญเส้นทางเป็นอย่างมาก ต้องลัดเลาะไปตามไหล่เขา เลียบน้ำไป

จะมีสักครั้งไหม สตาร์ทปุ๊บติดปั๊บ แล้วเดินทางได้เลย

16.00น. ถึงเวลานัดหมายการเดินทาง เสียงของคุณครูกล่าวถึงเครื่องยนต์ของเรือของโรงเรียนอายุ 10 ปี ที่หลังๆ นี้ต้องลุ้นกันในแทบทุกการเดินทาง ปกติทุกวันอาทิตย์ครูจะนัดเดินทางกลับเข้าไปโรงเรียนกันเวลา แต่วันนี้กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ถึงเวลาเดินทางเครื่องเรือสตาร์ทไม่ติด ลองไปหลายครั้งก็ยังเงียบสนิท จนต้องเปลี่ยนไปเช็คดูเจ้าเครื่องยนต์เก่านี้ พบว่า ขั้วแบตเตอรี่หัก ต้องรีบไปหาซื้อมาเปลี่ยนกับใหม่

17.25 น. เปลี่ยนขั้วแบตเตอรี่ใหม่แล้ว แต่ยังสตาร์ทไม่ติดอีก ความกังวลใจก็เริ่มมีมากขึ้น หากฟ้ามืดแล้วคงไม่สามารถเดินทางได้ หรือคงถึงเวลาเปลี่ยนเรือใหม่แล้วจริงๆ จนสัญญาณแห่งความหวังกลับมาเมื่อเครื่องเรือเก่าเริ่มส่งเสียงอีกครั้ง

เปลี่ยนขั้วแบตเตอรี่เครื่องยนต์เรือ

18.30 น. เดินทางอยู่กลางเขื่อนสิริกิตติ์ เกือบถึงบ้านห้วยต้าแล้ว แต่ท้องฟ้าเริ่มมืด คนเยอะ ของที่ขนมาเยอะ เรือหลักและระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่คงที่ เส้นทางที่เคยผ่านน้ำลง แต่ยังไม่สามารถมองเห็นเนินดินได้

ครืด! เสียงเรือปะทะกับเนินดิน จนทำให้เรือโคลงหนักมาก จึงต้องตัดสินใจดับเครื่องยนต์ พร้อมพายเรือเข้าฝั่งที่เป็นเกาะซึ่งโผล่มาในช่วงน้ำลดกลางเขื่อนเพื่อสำรวจสภาพของเรือ ไม่พบรอยร้าว แตกรั่ว จึงได้เวลาเดินทางต่อ แต่เรือเจ้ากรรมก็สตาร์ทไม่ติดอีก ขณะที่ท้องฟ้าด้านบนก็ส่งสัญญาณว่าฝนกำลังมา ฟ้าแลบแปลบปลาบ สัญญาณโทรศัพท์ก็ขาดหาย จนต้องเดินหากับเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือ โชคยังดีที่ติดต่อผู้ปกครองนักเรียนได้ และได้รับการตอบรับด้วยการขับรถมาลากจูงเรือโรงเรียนกลับไปยังหมู่บ้าน โดยมีเรือชาวบ้านอีกลำมาประกบข้างเพื่อช่วยกันให้ถึงฝั่งเร็วที่สุดก่อนฝนโปรย

เรือชาวบ้านมาช่วยจูงเรือของครูกลับไปที่ชุมชน

19.00 น. ทุ่มกว่าๆ เดินทางถึงท่าเรือบ้านห้วยต้าท่ามกลางสายฝน ครูทุกคนช่วยกันขนของลงเรือ และแพคกระเป๋าใส่ถุงเพื่อกันฝน ขนของขึ้นรถเพื่อเดินทางไปโรงเรียน

20.00น. ถึงโรงเรียนบ้านห้วยต้าวิทยาด้วยความปลอดภัย หากมองย้อนกลับไปในความโชคร้ายเราก็ยังมีความโชคดี คณะครูทุกท่านพูดคุยกัน หัวเราะ ทำให้บรรยากาศไม่ตึงเครียด ไม่น่ากลัว พอถึงฝั่งก็ช่วยกันขนของด้วยความรวดเร็วถึงโรงเรียนภายในเวลาไม่กี่นาที คำว่าลงเรือลำเดียวกัน เหมาะกับโรงเรียนเราที่สุด และยังมีชาวบ้าน และผู้ปกครองที่น่ารัก ให้ความช่วยเหลือทันทีที่เราโทรหา นี่คือเสียงบอกเล่าการเดินทาง

‘ถามว่าอยากได้อะไร เราอยากได้เรือใหม่’

คือเสียงสะท้อนของครูในพื้นที่ เพราะต้องเดินทางเข้าออกทุกอาทิตย์ เรือที่ใช้อยู่เก่ามากแล้ว ช่วงหลังก็สตาร์ทไม่ติดบ่อย ยิ่งหน้าฝนเดินทางกันลำบากมาก บางครั้งคลื่นลมแรง หนาวก็แทบไม่เห็นทางน้ำด้านหน้า แล้งมาก็คอยระวัง เรือไปชนต่อไม้ อีกด้านคำบอกเล่าจากคนพื้นที่ หน้าแล้ง แล้งมากๆ ไม่ใช่แค่เพื่อครู แต่เพื่อเด็ก ๆ บ้านห้วยต้าด้วย เพราะเมื่อก่อนชุมชนเคยมีเรือลำใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ถ้าจะพาเด็กนักเรียนไปแข่งขันวิชาการ อมรมความรู้ต่างๆ ก็ต้องเหมาเรือออกไป ผู้ปกครองก็กังวลเรื่องน้ำ เรื่องคลื่นลม พร้อมกับทิ้งท้ายว่า แม้จะเป็นหมู่บ้านที่เดินทางเข้ามายาก แต่เด็กๆน่ารักทุกคน อยู่ที่นี้แล้วมีความสุข จึงทำให้ครูมีกำลังใจในการสอน

ชุมชนบ้านห้วยต้าเป็นชุมชนอพยพที่ถูกตัดขาดเส้นทางทางบกจากการสร้างเขื่อนสิริกิตติ์ ในช่วงแล้งที่ระดับน้ำในเขื่อนลดลงมากๆ จะสามมารถวัดและโบราณสถานเก่าแก่ของหมู่บ้านโผล่ขึ้นมา ที่นี่เป็นชุมชนเหนือเขื่อนที่ยังคงมีธรรมชาติที่สวยงามและวิถีชีวิตพึ่งพาธรรมชาติ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำประมง โดยใช้เรือเป็นหลักในการเดินทาง ที่ผ่านมามีการยื่นขอตัดถนนเพื่อทำเส้นทางไปยังชุมชน แต่ก็ยังมีปัญหาเนื่องจากต้องผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา และอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน รวมถึงตอนนี้กำลังประสานและปรึกษาหารือเรื่องเรือไปยังคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฎอุตรดิตถ์ หากต้องการสนับสนุนหรือข้อมูลสามารถประสานได้ที่ โรงเรียนบ้านห้วยต้าวิทยา Banhuayta Witthaya School 

ขอบคุณภาพและเรื่องราว/โรงเรียนบ้านห้วยต้าวิทยาคม/ครูเยาว์
ธันวาและทีมองศาเหนือ /เรียบเรียง

แชร์บทความนี้