Where we belong เสียงประชาชนบนภาคตะวันออกที่อยากอยู่

นับตั้งแต่ปี 2561 พ.ร.บ. EEC อนุมัติดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ว่าด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินการมากว่า 40 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

โดยพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมของพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เป็นจังหวัดนำร่อง และพื้นที่ดังกล่าวเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศเดิม ซึ่งเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสนามบิน รวมถึงท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็นอันดับ 22 ของโลก EEC จึงเล็งพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่ที่มีความพร้อมสูงสุดให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

โครงการ EEC มีความพยายามในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมในการอยู่อาศัย พักผ่อน และประกอบธุรกิจ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความทันสมัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่เดิมและผู้เข้ามาลงทุนใหม่ ภายใต้การลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยวงประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ EEC ได้แก่ กลุ่มโรงงานของผู้ผลิต ไปสู่ผู้ค้าขาย เช่น SMEs, Traders/ Dealers/ Suppliers รวมไปถึงธุรกิจของคนรุ่นใหม่ Startup 

ทว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของพื้นที่นั้น กลับตามมาด้วยสิ่งที่คนภาคตะวันออกต้องแบกรับ ทั้งวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่กำลังเลือนหาย อาชีพประมงและเกษตรกรรมลดลง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายและเสื่อมโทรมลงจากการพัฒนา แหล่งน้ำกลายเป็นทรัพยากรที่ต้องต่อรองเพื่อใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่เกิดขึ้นถือเป็นข้อท้าทายสำหรับคนในพื้นที่เดิมและคนรุ่นใหม่ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่เข้ามาใช้ชีวิตในภาคตะวันออกรวมถึงอนาคตของพวกเขา อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเข้ามาทำงานในโครงการ EEC 

Where we belong ภาคตะวันออกที่อยากอยู่

ทีม Public Intelligence โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดนิทรรศการ Where we belong ออกแบบภาคตะวันออกที่อยากอยู่ ภายใต้กระบวนการฟังเสียงประเทศไทย ชวนนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเครือข่ายคนภาคตะวันออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นและออกแบบภาคตะวันออกที่อยู่

กิจกรรม Where we belong ชวนคนที่มาร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาคตะวันออกที่อยากเห็นภายใต้การพัฒนาของโครงการ EEC 

คนในพื้นที่ EEC โดยกำเนิด และมีแพลนจะย้ายไปใช้ชีวิตที่จังหวัดอื่นอยากให้มีการต่อยอดอาชีพการทำงานไปในอนาคต

คนในพื้นที่ EEC โดยกำเนิด และวางแผนจะใช้ชีวิตที่นี่ต่อมีความเห็นว่า อยากให้คนในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้นจาก EEC มีรายได้มากขึ้นและไม่มีการเอาเปรียบจากชุมชนทุกช่องทาง แม้แต่ช่องว่างทางกฎหมาย และ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และยังเป็นการพัฒนาที่เคารพสิทธิของประชาชนและรักษาทรัพยากรที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ไว้

“อยากเห็นการพัฒนาคมขนส่งที่ดีขึ้น เพราะว่าชลบุรีไม่ค่อยมีคมนาคมขนส่งที่ดีเท่ากับในกรุงเทพฯ เช่น รถเมล์ฟรี ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาในกรุงเทพฯ มากเกินไป แล้วก็งบประมาณอาจจะยังกระจายมาไม่มากพอ และก็จะทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไปไม่ถึงจังหวัดอื่น ๆ” 

หลิน คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ปี 3

พื้นเพไม่ใช่คนในพื้นที่ EEC และมีแผนจะย้ายไปใช้ชีวิตที่จังหวัดอื่นเสนอว่า อยากเห็นภาคตะวันออกมีความเจริญไปพร้อมกับกระจายความเท่าเทียม กระจายรายได้สู่ภาคประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับความเจริญ แต่ไม่ละเลยมนุษย์ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และไม่ทำลายชาวบ้านเพียงเพราะต้องพัฒนาพื้นที่

“อยากเห็นการพัฒนาที่ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับภาคประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแล้วก็กระจายรายได้สู่ประชาชน ปัจจุบันการพัฒนามันส่งผลทั้งชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่รุกรานพื้นที่ของภาครัฐแล้วก็ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่กระทบต่อชาวบ้านด้วย”

พลอย คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ปี 3

“อยากเห็นภาคตะวันออกรักษาจุดแข็งของเราไว้ให้ได้ก็คือเรื่องทรัพยากรที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ดินดีน้ำดีมีป่า มรดกโลกเขาใหญ่ดงพญาเย็นมีป่าตะวันออก คนภาคตะวันออกมีอยู่ดีกินดีได้ก็เพราะฐานทรัพยากรที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ทำให้เรามีชุมชนที่มั่นคงแข็งแรงแล้วก็สืบทอดมาได้ยาวนาน แล้วจริง ๆ มันก็เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เราที่จะมีชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าได้ดีด้วย”

“จากกระแสการพัฒนาภาคตะวันออกมันก็จะถูกมองไปในมุมต้องสร้างเศรษฐกิจ ต้องกระตุ้นการลงทุน แต่ว่าวันนี้ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกับเรามากขึ้นรุนแรงขึ้น ทรัพยากรเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยไม่เฉพาะแค่ในมิติด้านเศรษฐกิจแต่เรื่องการดำรงชีวิตที่เราจะอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข ซึ่งอันนี้สำคัญมาก” 

กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก 

“อยากเห็นภาคตะวันออกดีกว่ากรุงเทพฯ ภาคตะวันออกมีศักยภาพในการผลิตเม็ดเงินให้กับประเทศเยอะมาก และเราควรมีสิทธิ์กำหนดอนาคตของภูมิภาคตัวเอง ซึ่งต้องมีการกระจายอำนาจให้ดีกว่านี้ นำมาสู่สิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเองเลือกเส้นทางการพัฒนาของตัวเอง จัดสรรงบประมาณของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรออำนาจจากส่วนกลางเป็นคนกำหนด”

“ไม่อยากเห็นภาคตะวันออกเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราเคยกังวลกับเรื่องการหลั่งไหลเข้ามาของคนทำงานซึ่งที่ผ่านมาเป็นการหลั่งไหลเข้ามาทำงานในภาคนิคมอุตสาหกรรม แล้วเกิดภาวะการณ์จ้างงานแบบ Subcontract เกิดภาวะที่ไม่ได้เคารพสิทธิของคนในพื้นที่และสิทธิมนุษยชนมาก”

ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต 4 พรรคประชาชน

ภายในกิจกรรมมีป้ายผ้าให้เขียนว่าไม่อยากเห็นอะไรในEEC เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าคนที่มาร่วมกิจกรรมไม่อยากเห็นอะไรใน EEC 

เขียนโดย กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ

แชร์บทความนี้