โต๊ะเจรจาสันติภาพหายไปไหน ? เสียงสะท้อนชายแดนใต้

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้  มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว กว่า 7,600 คน งบประมาณที่ภาครัฐทุ่มลงไปสำหรับการดับไฟใต้ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมากว่า 5 แสนล้านบาท ถูกตั้งคำถามว่า ประสบความสำเร็จแค่ไหน ? รวมถึงการเจรจาสันติภาพเป็นหัวใจสําคัญของการแก้ปัญหาความรุนแรง หากย้อนไปเมื่อปี 2556 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างนโยบายใหม่ๆ ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสันติภาพ ซึ่งทำให้ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรก  

ผ่านมา 10 ปี การกลับมาครั้งนี้ของรัฐบาลเพื่อไทย ต่อการพูดคุยสันติภาพยังอยู่ในภาวะหยุดชะงัก ซ้ำเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงรอมฎอนที่ผ่านมาพบว่าสถิติของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มีความถี่ค่อนข้างสูง นำมาสู่การตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้ควรจะมีจุดยืนอย่างไร ชวนฟังเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ที่เฝ้ามองกระบวนการสันติภาพ

นอกจากโต๊ะเจรจาสันติภาพที่หายไป ยังมีหลายกิจกรรมของนักศึกษาที่หายไป  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทําให้เห็นถึงว่าทางเลือกในการต่อสู้แบบไม่ใช้อาวุธหดหายไปด้วย นี่คือคำพูดของ อัสมาดี บือเฮง นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ กล่าวว่า ภาพที่อยู่ข้างๆตัวเขานี้เป็นภาพความเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักกิจกรรมในพื้นที่ ที่รณรงค์เรื่องสิทธิในการกําหนดอนาคตตัวเอง เพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการสันติภาพ ภายหลังที่มีการเจรจาสันติภาพที่ประเทศมาเลเซีย ในช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราเห็นว่ามีปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม นักศึกษา สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่า กระบวนการสันติภาพต้องมีเสียงของประชาชน

แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เราเสียใจคือ มีการดําเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อปิดปากการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการดําเนินคดีต่อนักศึกษาที่จัดกิจกรรมการกําหนดสิทธิการกําหนดอนาคตตัวเอง และการดําเนินคดีต่อการชุมนุมเชิงอัตลักษณ์  มีการดําเนินคดีต่อนักข่าวนักสื่อสารที่เข้าไปทําข่าวในพื้นที่ ทิศทางเหล่านี้เป็นนิเวศน์ที่สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ

นั่นคือตัวชี้วัดสําคัญว่าระดับของเสรีภาพลดลง สิ่งสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพ ต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออํานวยต่อความปลอดภัย โดยเฉพาะชาวไทยพุทธในพื้นที่ ที่ดํารงอยู่ด้วยความหวาดกลัว เขาก็ต้องการพื้นที่ทางการเมือง ต้องการเสรีภาพในการแสดงออก นักศึกษาเยาวชนในพื้นที่เขาก็ต้องการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อัสมาดีกล่าวย้ำหนักเเน่นว่า ประชาชนมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ และแสดงเจตจํานงทางการเมืองของตัวเอง สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการไม่ใช่แค่โต๊ะการเจรจา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการพื้นที่เสรีภาพทางการเมือง ต้องการการมีส่วนร่วมของชาวบ้านจริงๆ โดยเฉพาะเสียงของเหยื่อในพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงหรือจากการใช้อาวุธ

เชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นกลไกสำคัญในการแสวงหาทางออกทางการเมือง

สมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านนอก ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกมีความหวัง ที่เราได้รัฐบาลพลเรือนเพื่อมาทําหน้าที่ในการแก้ปัญหาความรุนแรง ให้กับพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  

มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่จางหายไป เเต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าสถานการณ์มันเริ่มรุนแรงมากขึ้น พี่น้องมีความหวาดผวาและกังวลเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงจัง จริงใจและใส่ใจไม่รู้สึกว่าปลอดภัย

เรารอว่าเมื่อไหร่มันจะจบสิ้น เเละเรายังเชื่อมั่นว่าโต๊ะเจรจาสันติภาพสามารถพูดคุยหรือคลี่คลายปัญหา หาทางออกให้กับพี่ในพื้นที่ได้ แต่เมื่อไม่มีโต๊ะเจรจาพูดคุยสันติภาพรวมถึงมีสถานการณ์ความรุนเเรงตลอดเวลา ความรู้สึกของคนในพื้นที่รู้สึกอึดอัด เเละสิ้นหวังกับรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างมาก

“คุณต้องการให้พวกเค้าหยุดยิง หรือหยุดฝันถึงเอกราช” หากคําถามนี้ มันบีบหัวใจคุณ เพราะมันไม่ใช่เป็นแค่คําถามเชิงเหตุผล แต่มันคือภาระทางศีลธรรมที่เราต้องตัดสินใจร่วมกัน เป็นคำพูดของ อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานThe Patani ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติการทางการเมืองเล็กๆ ที่มีฝันยิ่งใหญ่ คือฝันอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นที่มาตุภูมิอันเป็นที่รัก

ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาความสูญเสียงบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท ที่ทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหา สุดท้ายเราเห็นระเบิดกลับมาอีกครั้ง เราไม่เห็นอนาคตของโต๊ะพูดคุยสันติภาพ สิ่งที่เราเห็นคือการปราบปรามอย่างหนัก เห็นการกลับมาของขบวนการติดอาวุธ นี่ชี้ให้เห็นว่าการปราบปรามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดการต่อสู้ของกลุ่มคนที่เลือกที่จะสู้เพื่อแผ่นดินของเขา 

สิ่งที่ต้องทําก็คือ การเปิดที่ทางการเมืองมันเพียงพอหรือยัง หรือ หากอยากให้เขาหยุดฝันถึงเอกราช เราก็พบเห็นแล้วว่าในโลกนี้ ไม่มีใครไปหยุดความฝันของผู้คนได้ สิ่งเดียวที่จะทําให้เราอยู่ด้วยกันได้ แม้นว่าเรายังจําเป็นต้องขัดแย้งกันอยู่ คือการนํากระบวนการสันติภาพกลับคืนมา คือเครื่องมือในการหาทางออกของพวกเราร่วมกันทุกคน อาเต็ฟกล่าว

หากย้อยกลับไปการพูดคุยสันติภาพอย่าง “เป็นทางการ” ระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานี ในปี 2556 โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซี่งเป็นการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก นับเป็นจุดเปลี่ยนในเชิงนโยบายที่สำคัญส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลวัตความขัดแย้งชายแดนใต้ แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง 

ผ่านมาหลายรัฐบาล ทั้งรัฐบาลทหารซึ่งนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ,รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เเละจนถึงขณะนี้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีแพทองธารให้มากุมเรื่องชายแดนใต้ก็ยังมิได้มีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาถึงแนวทางการแก้ปัญหาในชายแดนใต้ที่ผ่านมา

ล่าสุด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี สร้างแรงกระตุ้นอีกครั้งหลังลงพื้นที่ชายแดนใต้ในรอบ 20 ปี ในฐานะที่ปรึกษาอาเซียน เพื่อย้ำจุดยืนยึดแนวทางพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้ชวนย้อนดูเส้นทางการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นในการพูดคุยสันติภาพ-สันติสุขในแต่ละรัฐบาลบ้าง แล้วประชาชน/ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนอย่างไร

ชวนอ่านไทม์ไลน์พูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ทั้งหมดได้ที่ https://timeline-peacetalk.my.canva.site/south

กระบวนการสันติภาพกลับหยุดชะงักและเหตุความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่การตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้ควรจะมีจุดยืนอย่างไร ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายเเดนใต้ ชวนสำรวจแนวทางการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ ท่ามกลางสมการซับซ้อนระหว่างความมั่นคงและสันติวิธี

ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และนักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายกล่าวว่า อาจจะมีสองเหตุการณ์ด้วยกัน คือการพูดคุยครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ที่มีการตกลงกันเบื้องต้นได้ เจซีพีพี (Joint Comprehensive Plan towards Peace – JCPP) เกือบที่จะมีร่างในแง่แผนในแง่ของปฏิบัติการในการพูดคุย แล้วก็ตกลงกันถึงขั้นตอนต่างๆ ถ้าหากว่าเดินต่อไป จาก JCPP แล้วมันจะก้าวข้ามไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ คือ ขั้นของการเจรจาหาข้อตกลง แล้วก็มันจะเป็นความก้าวหน้า ถ้าประสบความสําเร็จมากเกินไป ผมรู้สึกว่าเหมือนกับว่าทางทางฝ่ายผู้นํา หรือว่าชนชั้นนําในสังคมไทยก็อาจจะไม่มั่นใจว่าจะยอมให้ไปสู่จุดนั้นหรือเปล่า

หรืออีกด้านหนึ่ง อาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลปัจจุบันยังมองไม่เห็นความก้าวหน้าอะไรเลย จริงๆ อาจจะมองไม่เห็นหรือว่าไม่เข้าใจ ว่ากระบวนการสันติภาพการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ที่มันผ่านมา เป็นองค์ความรู้มีความก้าวหน้าแล้วมีขั้นตอนในขบวนการต่างๆ ที่ค่อนข้างจะประสบความสําเร็จพอสมควร ในแง่ทางวิชาการว่าไม่สามารถจะลดเงื่อนไขความรุนแรงได้ในรอบ 10 ปี

ดร. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  รัฐบาลกล่าวว่า อาจจะไม่ได้มีคนที่ติดตามเรื่องภาคใต้อย่างต่อเนื่อง มีไม่มีคนดูแลเรื่องนี้โดยตรง ต้องพูดแบบนั้นในสมัยของรัฐบาลเศรษฐา เราไม่มีรองนายกฝ่ายความมั่นคง เรื่องภาคใต้จึงไม่มีเจ้าภาพหลัก พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลแพทองธาร ก็มีรองนายกฝ่ายความมั่นคงคือท่านภูมิธรรมเข้ามาดูแล แต่ว่าท่านก็ยังไม่ค่อยมีความมั่นใจกับแนวทางที่ผ่านมา

เจซีพีพี (Joint Comprehensive Plan towards Peace – JCPP) มันเป็นในภาษาไทยเรียกว่า แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม เป็นแผนปฏิบัติการที่มีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง เกี่ยวกับเรื่องของการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ เเละการแสวงหาทางออกทางการเมือง

การเจรจาโดยปกติแล้วไม่ใช่ว่าพอเรามีโต๊ะเจรจา หรือการพูดคุย ความรุนแรงมันจะยุติลงไปเลย มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ที่รัฐบาลตั้งคําถามว่าทําไมคุยกันแล้วความรุนแรงไม่หยุดคือไม่ใช่

ก็ต้องมีการคุยกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการหยุดยิงมักจะเป็นเรื่องแรกแรก ที่จะมีการคุยกันบนโต๊ะเจรจาก่อน ฉะนั้นถ้าจะต้องการให้เกิดการยุติความรุนแรง ต้องเปิดให้มีการคุยกันในเรื่องของการหยุดยิง หรือในภาษาที่รัฐบาลไทยใช้ก็คือการลดความรุนแรง

ถ้าเราอนุญาตให้กระบวนการสันติภาพมันเดินไปได้ จะนําไปสู่การยุติหรือลดความรุนแรงได้อย่างแท้จริง แต่ว่าตั้งแต่เรามีรัฐบาลมาจนถึงปัจจุบันเกินครึ่งปีมาแล้ว  

เป็นช่วงที่เราเป็นภาวะสุญญากาศไม่มีคณะพูดคุยเลย

ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง กล่าวว่า ตอนที่ประกาศว่าจะมีเลือกตั้ง BRN เขาก็หยุดยิงเขาบอกให้รัฐบาลใหม่ตั้งทีมขึ้นมาก่อน พอเลือกตั้งเสร็จก็มีปัญหาว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล แต่พอคุณเศรษฐา ทวีสิน  ขึ้นมาเป็นนายก สิ่งที่พูดกับรัฐสภาแทบไม่พูดถึงสามจังหวัดชายเเดนใต้เลย ไม่พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ เน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว

พอมารัฐบาลปัจจุบันก็เหมือนกันมีเงื่อนไขมากขึ้นและเข้าใจว่า เงื่อนไขตอนนี้ ก็คือว่า BRN ต้องหยุดใช้ความรุนแรงก่อนถึงจะมาคุยมาเจรจาได้ มันก็เป็นแฟคเตอร์ที่สําคัญมาก  ภาพใหญ่คือทําไม 21 ปีผ่านมา peace process ในสามจังหวัดไม่เคยไปไกลมากกว่าที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้เเละไม่เคยแตะเรื่องสำคัญๆเลย

ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ รองผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เราถามคำถามนี้ว่า โต๊ะเจรจาควรจะมีต่อไปไหม เราพูดเมื่อเราผ่านมา 20 ปีแล้ว ซึ่งก็จำเป็นต้องมีต่อไป  โต๊ะเจรจาเขาอาจจะมีตัวแทนเข้าไปจำกัด แต่ประชาชนเขารับคุณค่าและบทบาทของการพูดคุย  การรับฟัง การอยู่ร่วมกันของคนที่มีความแตกต่างหลากหมาย และลดพื้นที่ แชร์พื้นที่กับคนอื่นๆ ทำงานไปพร้อมกับชายแดนใต้  

ดังนั้นโต๊ะเจราจาก็ป็นส่วนหนึ่งที่พาสังคมไทยทั้งหมดไปด้วยกัน มันเป็นองค์ความรู้ และเป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้มีอํานาจในสังคมไทย จริงๆ ตัวเองตั้งคําถามเหมือนกันว่าการพูดคุยเจรจาเป็นกลไกเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งที่ผู้มีอํานาจอยากจะใช้ตั้งแต่ต้นหรือเป็นกลไกที่สังคมไทยชวนให้ผู้มีอํานาจมองเห็นว่ามันน่าจะเหมาะสม

ดังนั้น คนที่ใช้เขาอาจจะไม่ได้เต็มใจจะใช้ หรือไม่ถนัดที่จะใช้ตั้งแต่แรก จึงเป็นไปได้หรือเปล่าเมื่อถึงในจังหวะที่มันรุ่มๆ ดอนๆ มีอุปสรรค โต๊ะเจรจาจึงสะดุดลง

ถ้าเรามองมิติสังคมไทยการพูดคุยการหาทางออกด้วยการพูดคุย การมีส่วนร่วมก่อนหน้านี้มันน้อย แต่ว่าจริงๆ 20 ปีที่ผ่านมา คนในพื้นที่ก็ได้เรียนรู้

อาจารย์ศรีสมภพกล่าวเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงมีโอกาสจะเกิดขึ้นถ้าหากว่า การพูดคุยบนโต๊ะมัน หยุดชะงัก  ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของการพูดคุยสันติภาพไม่ว่าที่ไหนในโลก แต่ว่าลักษณะพิเศษอีกอันหนึ่ง ต้องย้อนกลับมาดูในเหตุการณ์ช่วงรอมฎอนปีนี้ รัฐบาลไม่เดินหน้าไม่มีเจตจำนงค์ในทางการเมือง เรื่องนี้อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่มันรุนแรงสูงขึ้น ในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอน เราเห็นปฏิบัติการที่เข้มข้น เห็นได้ชัดคือที่เหตุการณ์ที่ สุไหงโกลกและรอบๆ ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ในตอนนั้นว่าอาจจะเกิดปัญหามากขึ้น

แต่พอในภาพรวมปรากฏว่า ในช่วง 10 วันสุดท้ายเหตุการณ์กลับเหมือนกับมันช้าลงเหมือนกับว่ากําลังลดปฏิบัติการให้ ไม่ให้มันเข้มข้น มากเกินไป สำหรับในช่วงเดือนรอมฎอน ของปีนี้พบเหตุการณ์ ประมาณ 70 กว่าเหตุการณ์ หากเทียบกับเดือนรอมฎอนของปีที่แล้วปรากฏว่าต่ำกว่าปีที่แล้ว ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่า เขารับฟังความรู้สึกของประชาชนไม่ให้ความรุนแรงมากเกินไป

ติดตาม รายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน โต๊ะเจรจาสันติภาพหายไปไหน ? ฟังเสียงที่ 3 ชายแดนใต้ ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live

แชร์บทความนี้