“ดร.สืบพงศ์ สงวนศิลป์” มองปลาหมอคางดำในมุมนักชีววิทยา กับมหากาพย์ที่ยังไม่มีตอนจบ

“วิธีที่คิดว่ากำจัดได้หมดแน่ ๆ อย่างเช่นใช้สารเคมี หรือใช้ไฟฟ้า ก็ไม่ได้ไปแค่ปลาหมอคางดำ แต่คือสัตว์ทุกตัวของเราไปหมด เราจะทำได้ก็คือจับโดยการลงแรงประมงต่าง ๆ ยังไงก็จับไม่หมดอยู่ดี เรากำจัดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือควบคุม ไม่ให้มันเยอะมาก ๆ ถ้ามันเยอะมากจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ เราต้องจับมันออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วก็อย่าทำให้เป็นกระแสแค่ตอนนี้”

ดร.สืบพงศ์ สงวนศิลป์ อาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.สืบพงศ์ สงวนศิลป์ นักชีววิทยา อาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานงานวิจัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาเป็นหลัก หนึ่งในนั้นคือการศึกษาเรื่องการแพร่กระจายของเอเลี่ยนสปีชีส์ที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา ล่าสุดได้นำทีมลงพื้นที่เก็บตัวอย่างชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย โครงการชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฏิ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และพบว่าระบบนิเวศของพื้นที่ตรงนั้นถูกทำลายจนแทบไม่เหลือแล้ว หลังการเข้ามาของปลาหมอคางดำในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

“จากการลงพื้นที่ สิ่งที่สังเกตได้ก็คือแทบจะไม่เจอปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็นสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นเลย เอาเข้าจริงตรงนั้นไม่ได้มีเฉพาะปลาหมอคางดำที่เป็นเอเลี่ยนนะครับ ปลานิลก็มีแล้วเป็นเอเลี่ยนเหมือนกัน ปลาหมอเทศก็มี หรือว่าหอยกะพงเทศซึ่งก็เป็นสัตว์ต่างถิ่น ก็อยู่ที่นั่นเหมือนกัน”

“ซึ่งวันนั้นเราพบว่าปลาอื่นที่ไม่ใช่ปลาหมอคางดำหรือปลาเอเลี่ยนอื่น แค่ 2-3 ชนิดเท่านั้นเอง (แต่ละชนิดที่เจอก็เจอแค่ 2-3 ตัว) ซึ่งถือว่าน้อยมากจนน่าเป็นห่วง จริงแล้วเวลาเราสำรวจพื้นที่ลักษณะนี้อย่างน้อย ๆ จะเจอหลายสิบชนิดสายพันธุ์ แต่นี่เจอแค่ 2-3 ชนิดคือมันน่ากลัวมาก”

ปลาหมอเทศ ที่จับได้จากโครงการชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฏิ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

เราจำเป็นต้องรู้…ถ้าเราคิดจะควบคุมมัน

“ก่อนหน้านี้ผมทำเรื่อง “เอเลี่ยนสปีชีส์ที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา” มีทั้งปลาสอดกระโดง ปลาหมอเทศ เราศึกษาการแพร่กระจายว่ามีอยู่ตรงไหนบ้าง ตรงไหนมีมากหรือน้อย การแพร่กระจายแบบนี้เป็นผลมาจากธรรมชาติ คือตรงไหนที่ธรรมชาติโอเคกับปลาชนิดนี้ก็จะเจอเยอะ แต่ถ้าธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมตรงไหนที่ไม่โอเคก็จะเจอน้อย สิ่งเหล่านี้จะไม่ไม่คงที่ บางฤดูอาจจะมีตรงนี้เยอะ หรือบางฤดูก็หายไป หรือลดน้อยลง นอกจากนั้นเรายังศึกษาเรื่องการกินของปลาต่างถิ่นเหล่านี้ว่ากินอะไรบ้าง มีการเจริญเติบโตอย่างไร มีการสืบพันธุ์อย่างไรบ้าง สืบพันธุ์แล้วจะได้ลูกมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้เป็นชีววิทยาของของปลาเหล่านี้  ซึ่งเราก็จำเป็นต้องรู้ถ้าเราคิดจะควบคุมมัน ก็เหมือนรู้เขารู้เรา เราจะชนะศัตรูได้เราก็ต้องรู้จักศัตรูก่อน”

“มีนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องอาหารของปลาหมอคางดำพบว่าส่วนใหญ่กินพวกพืชและสาหร่าย กินสัตว์เล็ก ๆ ในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ว่าพอมาอยู่บ้านเรา อาจจะเป็นเพราะบ้านเรามีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยเยอะ ก็เหมือนกับมีอาหารให้ปลาหมอคางดำเยอะ และในบางพื้นที่ที่นน้ำขุ่นเป็นโคลนตม สาหร่ายขนาดใหญ่อาจจะไม่ค่อยมีเพราะว่าแสงส่องลงไปไม่ถึง เลยไม่มีสาหร่ายให้กิน ก็คือในเมื่อไม่มีอย่างหนึ่ง ปลาหมอคางดำก็เลือกกินอีกอย่าง เลยมากินสัตว์เล็ก ๆ แทน ทำให้พวกสัตว์ประจำถิ่นของเราโดนรุกรานอย่างหนัก จนหลาย ๆ ชนิดหายไป”

“ปลาหมอคางดำที่ว่ามันน่ากลัวก็คือ มันโตเร็ว แล้วเรื่องของการสืบพันธุ์ที่แม้จะออกลูกไม่เยอะ มากสุดก็ประมาณ 400 ตัวต่อครั้ง หรือโดยเฉลี่ยก็ประมาณ 200 ตัวต่อครั้ง แต่ออกลูกได้หลายครั้งต่อเนื่องตลอดทั้งปี เป็นปลาที่มีพฤติกรรมในการปกป้องลูก ก็คือตัวผู้จะดูแลลูกที่เกิดมา เวลาภัยมาลูกก็จะเข้ามาในปากตัวผู้ ก็จะป้องกันลูกไม่ให้โดนจู่โจมหรือโดนกินได้ ก็เลยยิ่งขยายพันธุ์ได้ดีได้รวดเร็ว”

ดร.สืบพงศ์ สงวนศิลป์ อาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในฐานะนักชีววิทยา ดร.สืบพงศ์ มองว่าปัจจุบันสภาพแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ที่พบปลาหมอคางดำส่วนใหญ่เป็นลักษณะน้ำกร่อย เป็นลำคลองสาขาที่ใช้ระบายน้ำออกสู่ทะเล ใกล้กับพื้นที่นากุ้ง ทำให้ปลาหมอคางดำเจริญเติบโตได้ดี และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่ค่อนข้างเปราะบางเนื่องจากปลานักล่าที่อยู่ในระดับสูงของห่วงโซ่ อย่างปลากะพงขาว ปลากะพงแดง หรือปลาเก๋า เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ถูกมนุษย์ล่าออกไปจากระบบจำนวนมาก ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่เหล่านี้ลดลง และส่งผลให้ปลาหมอคางดำแทรกแซงเข้ามาได้ง่าย

“ในความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าพื้นที่ไหนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ระบบนิเวศนั้นก็จะเป็นระบบนิเวศที่แข็งแรงนั่นก็คือถ้ามีตัวไหนบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้นก็ยากที่จะอยู่ได้ หรือว่าจะควบคุมสังคมตรงนั้นได้ การที่มันจะขยายพันธุ์ให้เยอะแยะเต็มไปหมดก็คงเกิดขึ้นได้ยาก แต่ระบบนิเวศบ้านเราส่วนใหญ่เนี่ยต้องยอมรับว่า สัตว์น้ำต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นทรัพยากรที่เราเอามากินเหมือนกัน “

“พอเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เข้ามาแล้วมีความเก่งกาจขนาดนี้ เมื่อบวกกับสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศของเราซึ่งขาดผู้ดูแลด้วยแล้วนี่ เลยทำให้เอเลี่ยนฯ ได้โอกาส แล้วก็ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเลย ก็เป็นภาพนึงที่สะท้อนว่าในพื้นที่ของบ้านเรา ซึ่งเมื่อก่อนเคยอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ตรงนั้นมันก็พร่องไปเยอะแล้ว จนทำให้เอเลี่ยนแทรกแซงเข้ามาได้ง่าย”

ปลาหมอคางดำ

ขนาดลำตัวยาว 3 นิ้ว สภาพไข่เต็มท้อง

“ปลาหมอคางดำจะชอบน้ำกร่อย แต่ด้วยความที่ว่ามันทนความเค็มได้ในช่วงกว้าง น้ำจืดก็อยู่ได้ น้ำเค็มก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่ามันสามารถเข้าไปถึงน้ำจืดได้ หรือออกไปสู่ทะเลก็ได้ แต่ในความชอบของปลาหมอคางดำจริง ๆ ก็คือน้ำกร่อยอยู่ดี ดังนั้นเราก็จะพบปลาหมอคางดำอยู่กันหนาแน่นเฉพาะที่เป็นน้ำกร่อย แต่น้ำจืดก็ต้องกังวลเหมือนกัน ตราบใดที่มันไปถึงได้ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ตรงนี้ใปปริมาณหนาแน่นแล้ว มันก็ต้องมีการกระจายออกข้างไปอยู่ดี กระจายไปถึงทางปลายน้ำ กระจายไปถึงทางต้นน้ำอยู่ดี”

แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบในพื้นที่ของทะเลสาบสงขลา แต่ในมุมของนักวิจัยที่ทำงานกับพื้นที่มาโดยตลอด มองว่าโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะมายังทะเลสาบสงขลานั้นเป็นไปได้แน่นอน โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (ภาคใต้ฝั่งตะวันออกเริ่มเข้าฤดูฝนในเดือนตุลาคม)

ทีมงานไทยพีบีเอส ได้ทำแบบสำรวจการระบาดของปลาหมอคางดำ ในประเทศไทย โดยให้คนที่เจอปลาหมอคางดำในน่านน้ำใกล้บ้านปักหมุดรายงานเข้ามาใน C-Site ตั้งแต่ปีที่แล้ว – ปัจจุบันกว่า 109 จุด ไล่มาตั้งแต่พื้นที่ระยอง จันทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไปจนถึงราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ ที่พบล่าสุด ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และ พบแล้วในคลองบางแขยง คลองปากแค ตลาดน้ำคลองแดน คลองพังยาง-ระวะ อ.ระโนด  จ.สงขลา  ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

และถ้าหากดูลำคลองสาขา ขนาดเล็ก ๆ จะเห็นว่าสามารถเชื่อมต่อลงไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ และพื้นที่สำคัญอย่างทะเลสาบสงขลาอีกด้วย หากปลาชนิดนี้ระบาดในทะเลสาบสงขลา ก็จะเกิดวิกฤติอย่างหนัก เนื่องจากปลาหมอคางดำ มีความอึด ทนทาน อยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อม แถมยังกินสัตว์น้ำตัวเล็กชนิดอื่น ๆ  ทำให้ชาวบ้านกังวลเพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งความมั่นคงทางอาหาร

วิถีประมงพื้นบ้านในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง

“เมื่อไหร่ที่ปลาหมอคางดำมาถึงทะเลสาบสงขลา แย่เลยนะครับ เพราะว่าทะเลสาบสงขลา เป็นระบบทะเลสาบน้ำเค็ม ที่ใหญ่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ถ้าเกิดปลาหมอคางดำลงมาที่ทะเลสาบสงขลาได้ ซึ่งบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา จะเป็นเหมือนลุ่มน้ำ มีช่วงฤดูที่น้ำหลาก ปลาหมอคางดำสามารถที่จะลงมาเรื่อย ๆ ได้ จากแหล่งน้ำที่อยู่เหนือขึ้นไป แถวทะเลน้อย ลงมาสู่ทะเลสาบสงขลาได้เหมือนกัน”

“แม้เราจะเจอปลาหมอคางในทะเล แต่ว่ามันทนได้แค่ชั่วคราว ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ในทะเลได้ เพราะว่าโดยสภาพพื้นที่ทะเลไม่ได้เหมาะกับการอยู่ของปลาชนิดนี้ แต่สามารถลงไปชั่วครั้งชั่วคราวได้ แล้วกลับขึ้นมา ดังนั้นจากปากน้ำแถว ๆ หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช หรือว่าคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา แล้วปลาหมอคางดำจะข้ามมาลงที่ทะเลสาบสงขลา ผมยังมองว่าไกลเกินไป ไม่น่าจะไปถึง แต่ถ้ามันจะไปได้ก็คือทางบกมากกว่า ถ้ามีน้ำหลากแล้วปลาหมอคางดำค่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำเชื่อมต่อถึงกัน ปลาหมอคางดำก็สามารถแพร่กระจายไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีขอบเขตครับ”

“ความน่ากังวลใจที่สุด คือปลาชนิดนี้มีความเก่ง เอาตัวรอดได้ดี โตไว สืบพันธุ์ให้ลูกได้เยอะอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายพันธุ์ได้เต็มพื้นที่”

ดร.สืบพงศ์ สงวนศิลป์

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชากรของปลาหมอคางดำมีเยอะเกินไป มันก็ต้องการการบริโภคที่มาก ซึ่งสิ่งที่มันต้องการอย่างพวกสาหร่าย พวกพืช เราไม่ได้กังวลอะไรมากนัก เพราะสามารถทดแทนได้ไม่ยาก แต่ว่าสิ่งที่น่ากังวลก็คือพวกสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นบ้านเรา อย่างปลาเศรษฐกิจ ตอนที่เป็นลูกปลาก็อาจจะโดนปลาหมอคางดำไล่กินจนหมดได้ แต่อีกฝั่งหนึ่งก็จะมีปลาหรือสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหลาย ๆ ชนิดเช่นกุ้ง หอย ปู หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คนไม่ได้กิน หรืออาจจะมองว่าไม่ได้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอะไร แต่มันก็ตกเป็นเหยื่อของปลาหมอคางดำเช่นกัน  ก็จะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ลดลง”

“ด้วยความที่เราเป็นคน เราอาจจะมองประโยชน์ของคนเป็นหลัก เราก็จะให้คุณค่ากับทรัพยากรที่เราใช้ ปลาที่เรากิน แล้วถามว่าปลาที่เราไม่กิน เราไม่ต้องแคร์เหรอ ในธรรมชาติมันมีบทบาทของมันอยู่แล้ว สิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้มีประโยชน์โดยตรงกับเรา แต่มันจะมีประโยชน์โดยอ้อม จะเป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในระบบนิเวศต่อกันไปเรื่อย ๆ จนถึง สัตว์ที่เรากินอยู่ดี เพราะฉะนั้นมันก็มีประโยชน์ต่อเราอยู่ดี การที่มันหายไปก็จะส่งผลกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่”

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงแล้ว การฟื้นฟูมันยากกว่าการรักษามาก การรักษาคือเราแค่ทำให้มันเหมือนเดิม ไม่ถึงขนาดว่าเราไม่ไปยุ่งหรือไปใช้ประโยชน์จากตรงนั้น แต่คือการใช้อย่างฉลาด ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ เราใช้โดยที่ไม่ไปกดดันมากเกินไป ไม่ไปเก็บเกี่ยวมันมากจนเกินไป ให้สามารถฟื้นฟูได้ ฉะนั้นมันก็จะคงอยู่กับเราไปได้ตลอด แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดอะไรขึ้น อย่างเราไปเก็บเกี่ยวมันมากเกินไป หรือโดยอ้อมเราอาจจะทำอะไรก็ตามซึ่งส่งผลกระทบต่อที่ที่มันอยู่ทำให้มันอยู่ไม่ได้แล้วมันหายไป ความหลากหลายทางชีวภาพหรือความสมบูรณ์ตรงนี้มันก็จะลดน้อยลง จะทำให้ระบบนิเวศอ่อนแอ อย่างเอเลี่ยนสปีชีส์ก็คือเรื่องหนึ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วมันเห็นได้ชัด”

กำจัดไม่ได้ แต่ต้องควบคุมให้ได้

ดร.สิบพงศ์ มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในปัจจุบันที่กระจายออกเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นั้นมีความยากที่จะกำจัดให้หมดไป ขณะเดียวกันก็มองว่าการใช้วิธีการแบบการระดมจับปลาหมอคางดำ หรือการปล่อยปลานักล่าอย่างปลากะพงขาว ตามที่กรมประมงเริ่มทำไปแล้วในบางพื้นที่ ยังเป็นเรื่องที่มีข้อกังวลอยู่เช่นกัน

“การปล่อยปลากะพงขาว เพื่อให้ไปช่วยจัดการปลาหมอคางดำ เรื่องนี้ก็จะมีความความอันตรายบางอย่างแฝงอยู่ โดยปกติแล้วในการควบคุมสัตว์ต่างถิ่น หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นอื่น ๆ การที่เราใช้สิ่งมีชีวิตหนึ่งเพื่อไปควบคุมอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ไม่เชิงว่าจะได้ผลนัก และถ้ามองในกรณีที่ปล่อยปลาปลากะพงขาว เพื่อไปกำจัดปลาหมอคางดำ ถ้าเรามองในพื้นที่ ที่จะปล่อยปลาไป อย่างน้อยลูกปลาหมอคางดำก็จะถูกล่าส่วนหนึ่ง แต่เราต้องอย่าลืมว่าเราปล่อยผู้ล่าเพิ่มเข้าไปในระบบ สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นซึ่งมันโดนปาหมอคางดำล่าจนบอบช้ำแล้ว อยู่ ๆ ก็มีปลากะพงขาวมาผสมโรงด้วย ก็จะยิ่งบอบช้ำไปใหญ่ แม้ว่าปลากะพงขาวลงไปแล้วเนี่ยมันช่วยกินปลาหมอคางดำได้ก็จริง แต่มันกินอย่างอื่นด้วย มันไม่ได้กินเฉพาะปลาหมอคางดำ เพราะฉะนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นอื่น ๆ ก็อาจจะโดนหางเลขไปด้วย”

“วิธีที่คิดว่ากำจัดได้หมดแน่ ๆ อย่างเช่นใช้สารเคมี หรือใช้ไฟฟ้า ก็ไม่ได้ไปแค่ปลาหมอคางดำ แต่คือสัตว์ทุกตัวของเราไปหมด เราจะทำได้ก็คือจับโดยการลงแรงประมงต่าง ๆ ยังไงก็จับไม่หมดอยู่ดี เราจะพูดถึงเรื่องนี้ก็คือเรากำจัดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือควบคุม ไม่ให้มันเยอะมาก ๆ ถ้ามันเยอะมากจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นเราต้องจับมันออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วก็อย่าทำให้เป็นกระแสแค่ตอนนี้”

“ถ้าเราจะกำจัดมันจริง ๆ เราก็ต้องสร้างความต้องการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การบริโภคแบบเนื้อสดอย่างเดียว อาจจะรวมไปถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อะไรต่าง ๆ ขึ้นมา ถ้าจะควบคุมมันได้เราต้องมีทางออกให้กับมันด้วย คนที่จะลงไปเพื่อช่วยจับปลา เขาได้ประโยชน์อะไรจากมันบ้าง เขาก็ต้องขายปลาได้ ไม่งั้นเขาจะจับไปทำไม ทุกคนก็ต้องเลี้ยงชีพ นี่จะเป็นทางหนึ่งที่เราสามารถที่จะช่วยได้”

“จากฐานข้อมูลของ iNaturalist ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะมีรายงานว่าเจอสิ่งมีชีวิตที่ไหนบ้าง จากฐานข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่าปลาที่เป็นปลาต่างถิ่นในประเทศไทยมีอย่างน้อย 20 ชนิด ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มของปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาหมอคางดำ อยู่ในกลุ่มนี้เลย ณ ตอนนี้มีการแพร่ระบาดของปลากลุ่มนี้แล้ว ถามว่ามหากาพย์นี้จะจบตรงไหน บอกเลยมันไม่มีแฮปปี้เอนดิ้งหรอกครับ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องอยู่กับมัน แล้วก็เราก็ต้องพยายามควบคุมประชากรของมันไม่ให้มากไป”

แชร์บทความนี้