หมอคางดำที่ว่าแน่ ชนะได้ด้วยแนวทางจัดการครบจบ

แนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไข เพราะได้แพร่กระจายและระบาดไปใน 16 จังหวัด โดยกรมประมงมีมาตรการ 6 เรื่อง ในพื้นที่ระบาด และพื้นที่กันชนป้องกันการระบาด เช่น ใช้อวนรุนควบคุมปลาหมอคางดำ ปล่อยปลากะพง ปลาอีกงเพื่อล่าที่เหมาะสมกับพื้นที่ระบาด นำไปใช้ประโยชน์ทำปลาป่น แปรรูปเป็นอาหาร

นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และประสานความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่งโดยจะเริ่มในวันที่ 1 ส.ค. นี้

4 กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญอย่างไร

รศ.ดร.ธนพลพ็ญรัตน์ ผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์ข้อมูลและดิจิทัล สกสว ขยายต่อนอกจากมาตรการแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือบทบาทของแต่ละฝ่ายที่จะช่วยในการแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเริ่มที่กลุ่มนักวิชาการ รวมถึงแหล่งทุนต่างๆ ต้องทำงานวิจัยให้ตอบโจทย์กับปัญหา หมายถึงต้องระบุและสรุปว่ามีมาตรการไหนที่จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดและการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำได้

ปลาหมอคางดำยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคม เป็นพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาที่อื่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่มีองค์ความรู้ต้องมาร่วมมือกันเสนอแนวทางใหม่ๆ เช่น การตรวจดีเอ็นเอ (eDNA) ที่คนอื่นสามารถตรวจได้ การแปรรูปอาหาร วิธีการจับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพตรงกับเป้าหมายคือปลาหมอคางดำ

ประเด็นที่ต้องทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ การจับแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เป็นภาระของงบประมาณรัฐ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่เกิดเป็นวงจรการหมุนเวียนเศรษฐกิจด้วยปลาหมอคางดำซึ่งสิ่งสำคัญตอนนี้คือถ้าไม่มีงานวิจัย การนำไปใช้ประโยชน์ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ฉะนั้นตรงนี้คือบทบาทแรกที่ต้องเห็น

ในรายการคุณเล่าเราขยาย รศ.ดร.ธนพล ติดตามสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบ

ส่วนที่สอง ประชาชน ที่มีกระแสตื่นตัวหลายพื้นที่ จากความตระหนักและกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยความที่ปลาหมอคางดำมีความเป็นพลวัตรสูง หมายถึงปรับตัวกับแหล่งน้ำใหม่ๆ ได้ อึดถึกทน ฉะนั้นจึงเป็นการแข่งกับเวลาซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นของการเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำ (Exponential growth)

ตอนนี้ประชาชนมีความต้องการอยากจะช่วยจัดการจึงต้องมีมาตรการแนวทางที่ดีให้ปฏิบัติตาม ซึ่งโยงกับงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องวิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมออกมา ส่วนแผนของหน่วยงานรัฐที่ทำมา เช่น การปล่อยปลากะพงขาวล่า ให้ช่วยกันจับทำเป็นอาหารในระยะสั้นและรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท

ต่อมาต้องพึ่งพากับฝั่งของเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม ที่จะมารับไม้ต่อ ทั้งเอกชนที่เป็นคนนำเข้าหรือไม่ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันออกมา 5 แนวทางออกมาได้แก่ ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ทำเป็นปลาป่น ร่วมปล่อยปลาผู้ล่า พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาศาสตร์พลเมืองอีกหนึ่งแนวทางที่ทำได้

อย่างที่กล่าวไปเรื่องการทำ eDNA (environmental DNA) พัฒนาเป็น Test Kits เหมือนกับ ATK สำหรับจับอานุภาพดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ ประชาชนก็จะมีเครื่องมือที่ช่วยในการสำรวจ มี sensor lab ของตัวเอง แทนที่จะให้ดู จับปลาอย่างเดียว ประชาชนสามารถตรวจดูว่าเจอหรือไม่เจอปลาหมอคางดำตรงไหนแล้วปักหมุดไว้ ทำลักษณะของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง รายงาน ชี้เป้าเข้ามา ทำเป็นฐานข้อมูลไว้

จากนั้นส่งต่อข้อมูลให้เอกชนรัฐในพื้นที่ช่วยกันต่อ เช่น กรมประมงอาจจะเอาปลากระพงไปลงได้ถูกจุด หน่วยงานรัฐที่มีกำลังพลจะได้ลงไปถูกจุด เป็นต้น เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งแต่ไม่สามารถทำงานด้วยตัวเองได้ วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองจึงสำคัญ ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งของนักวิจัยเครื่องมือนี้ด้วยเพื่อให้วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใจความสำคัญของมาตรการคือ ป้องกัน ควบคุมและกำจัดในแต่ละพื้นที่ที่มีการระบาด และเสี่ยงกับการระบาด

รศ.ดร.ธนพล ประเมินถึงสถานการณ์ในตอนนี้ ให้นึกถึงการจัดการของโรคระบาดเหมือนตอนโควิด 19 ซึ่งจะจัดการในพื้นที่ที่กำลังเริ่มการระบาดอันนั้สำคัญ เพราะว่าปริมาณยังไม่มากถึงระดับที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเรียกว่า ปกป้องระบบนิเวศ ประมงท้องถิ่นได้ก่อน จากนั้นพยายามตีกรอบพื้นที่ในการจัดการ เพราะบางพื้นที่มีการระบาดมานานและเจอเยอะ บางที่เริ่มแพร่กระจายเข้าไป ฉะนั้นการตีกรอบในการจัดการจึงสำคัญสุด ไล่จากพื้นที่เริ่มการแพร่ะมาสู่พื้นที่ที่มีการระบาดเยอะ เพราะมูลค่าทางระบบนิเวศมันยังไม่ได้ถูกทำลายแต่ถ้าปล่อยไว้นานก็จะยาก 

ขณะที่บางพื้นที่ที่มีจำนวนมากมานานแล้ว ซึ่งอาจจะโดนทำลายระบบนิเวศไปเยอะอาจจะรอขั้นฟื้นฟู โดยสามารถเดินคู่กันได้การป้องกันกับการฟื้นฟู และพื้นที่ที่ควรลงทรัพยากรลงแรงของประชากร รัฐ และเอกชนแล้วคุ้มที่สุดคือการป้องกัน รักษาระบบนิเวศไว้ก่อน แล้วค่อยตามฟื้นฟูจุดที่ได้รับผลกระทบเยอะแล้ว และตามด้วยการเยียวยา

ทีมนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ได้ทำแบบสำรวจการระบาดของปลาหมอคางดำ ในประเทศไทย โดยให้คนที่เจอปลาหมอคางดำในน่านน้ำใกล้บ้านปักหมุดรายงานเข้ามาใน C-Site ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปีแล้ว ปัจจุบันพบการรายงานกว่า 109 จุด  ล่าสุดพบอยู่ที่ทางภาคใต้ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และอ.ระโนด  จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ความน่ากังวลเนื่องจากหากปล่อยให้มีการแพร่ระบาดหนักอาจเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของเกษตรกร โดย อ.ชวลิต วิทยานนท์ เสนอชนิดพรรณปลาที่มีศักยภาพเป็นผู้ล่าลูกปลาหมอคางดำ ที่มีชุกชุมในแม่น้ำบางปะกงและทะเลสาบสงขลา เช่น ปลากดทะเลขนาดกลางต่างๆ ปลาอีกง ปลาดุกทะเล (มีหลัง) ปลาบู่ขนาดกลาง ปลาจวด เป็นต้น

การแพร่ระบาดและกระจายตัวในหลายพื้นที่ของปลาหมอคางดำ จึงเป็นบทเรียนสำคัญของการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาในไทยไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ยิ่งปัจจุบันระบบนิเวศในไทยมีความอ่อนแอลง ฉะนั้นพอมีพันธุ์เข้ามาจึงกำจัดและควบคุมได้ยากกว่าเดิมหากมีกฎหมายข้อบังคับที่เคร่งครัด รวมถึงมาตรการและการรายงานที่ชัดเจนก็จะทำให้เมื่อปัญหาไม่เกิดผลกระทบอย่างหนักและจัดการได้อย่างทันท่วงที 

อีกด้านปลาหมอคางดำทำให้สังคมได้ตระหนักและหันมาสนใจถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ ที่มีอยู่ในไทยที่ควรจะต้องหาแนวทางจัดการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปลาหมอมายัน ผักตบชวา และอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ตามแหล่งธรรมชาติ แนวทางที่กล่าวมาข้างต้นตั้งแต่การป้องกัน ตรวจหาแหล่งแพร่ระบาด การป้องกันและควบคุมโดยการใช้นวัตกรรม ที่ทุกคนสามารถทำร่วมกันได้ โดยสามารถอ่านแนวทางการจัดการที่ทางทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ได้รวบรวมมาให้ ได้ที่ https://www.facebook.com/share/kaCbhnQHWHEktSWH/

ที่มา

https://www.facebook.com/chavalit.vidthayanon/posts/26063045636644319

แชร์บทความนี้