กสม.ติดตามการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ภาคกลาง

“ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหนักในหลายจังหวัด จนตอนนี้ไปไกลถึงภาคใต้ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาแล้ว”

อจ. ชวลิต วิทยานนท์ กล่าว

ปัญหาการแพร่ระบาดเอเลี่ยนสปีชีส์หรือ “ปลาหมอคางดำ” จากเดิมที่พบเจอใน 13 จังหวัด ความรุนแรงของการระบาด ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งกินสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรหรือกินลูกปลาท้องถิ่นตามคูคลองจนเห็นแต่ปลาหมอคางดำ สร้างความกังวลแก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดและพื้นที่ใกล้เคียงที่เสี่ยง หากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ข้อมูลการสำรวจตำแหน่งที่เจอปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปลายเดือนส.ค. 66 จนถึงเดือนก.พ. 67 จะเห็นการกระจุกตัวของปลาหมอคางดำบริเวณอ่าวตัวกอมากที่สุด ขณะเดียวกันทางภาคใต้ก็พบเจอ เป็นสัญญาณเตือนว่าต้องรีบจัดการปัญหานี้

ณ ห้องประชุมแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่ 25 ก.พ. 2567 ตัวแทนชาวบ้าน ชาวประมงในพื้นที่ที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, เพชรบุรีและกรุงเทพมหานคร จัดวงประชุมเพื่อหาเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มีมานานกว่าสิบปี

ผู้แทนจากกลุ่มประมงต่าง ๆ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น หารือแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ โดยฝั่งประชาชนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้มีการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ติดตามประเด็นปลาหมอคางดำจัดวงประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายประชาชน และยื่นข้อเสนอ 16 แนวทางที่หวังจะนำไปยื่นต่อกรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในแก้ปัญหาจะนำไปเอาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่

“แม้ว่ามีการยืนยันว่าแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตามไม่สามารถจะฝากความหวังไว้ที่กรมประมงเพียงหน่วยงานเดียว ต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น”

สถานการณ์มีความรุนแรงยิ่งขึ้น สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและการประกอบอาชีพของประชุมชน หลังจากนี้กสม.จะจัดการประชุม โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากกรมประมงมาร่วมเพื่อให้เกิดการติดตาม รับรู้บทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายสามารถสนับสนุนกันได้ และหวังให้ผู้ก่อปัญหา บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจะเข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง

10 ปีที่ผ่านไป การจัดการสัตว์รุกรานต่างถิ่นจะไปทางไหนดี ?

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม มีการจัดประชุมหารือเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาการระบาดปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประมงชายฝั่ง โดยมีกสม.เป็นคนจัดเวทีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายประชาชนทั้ง 7 จังหวัด มาร่วมพูดคุยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันต่อจากนี้

ที่ผ่านมาการดำเนินการแก้ไขปัญหามีกรมประมง ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ขณะที่ครั้งนี้มีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพิ่มเติม ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า กรมประมงได้ออกมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำและป้องกันการระบาดขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 5 มาตรการหลักสำคัญได้แก่

  1. การกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยวิธีการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะกับสภาพพื้นที่
  2. การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง
  3. การกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
  4. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดไปใช้ประโยชน์
  5. การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ

นอกจากนี้จะต้องมีการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกันตั้งแต่กำนันไปจนถึงผู้ใหญ่บ้าน เรื่องการอนุญาตเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ถ้าหากมีการทดลอง พิสูจน์แล้วว่าเครื่องมือนั้นมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาได้จริงก็จะเดินการแก้ไขกฎหมายต่อไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ Kick off ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมอบธงสัญลักษณ์ให้เรือประมงอวนรุนในการกำจัดนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร

ด้านผู้แทนศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สผ.) กล่าวว่า หากมีการพบการแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางศูนย์วิจัยติดตาม จะทำหน้าที่แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานต่อ และสนับสนุนเรื่องการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตัวแทนจากสผ. ปภ. และกรมบัญชีกลาง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในครั้งนี้นอกจากกรมประมง และชุมชนในพื้นที่

สำหรับประเด็นการประกาศให้การระบาดสัตว์น้ำต่างถิ่นปลาหมอคางดำเป็นภัยพิบัตินั้น ตัวแทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมบัญชีกลาง กล่าวว่ากรมประมงต้องหใ้ทำโครงการใช้เงินทดรองราชการ (เงินที่กระทรวงการคลังจ่าย อนุญาตให้ราชการมีเพื่อทดรองจ่ายตามระเบียบหรือข้อบังคับของกระทรวงการคลัง) มายังปภ. เพื่อหาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉินเฉพาะหน้า โดยจะต้องข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

กสม. สรุปผลหารือติดตามการแก้ไขสั้น กลาง ยาว ระบุต้องเสนอครม.แก้ปัญหาทั้งระบบ

หลังจากการพูดคุยทางกสม. ในฐานะผู้จัดเวทีประชุมครั้งนี้ ระบุว่าจะทำตามแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำต่อ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1

ระยะเร่งด่วน กสม. จะส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอให้จัดประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด หารือแนวทางการออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือทำประมงบางประเภทในการกำจัดปลาหมอคางดำ

2

ระยะสั้น ติดตามหน่วยงานกรมประมงเรื่องทำหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง ประเด็นการใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มาใช้แก้ไขปัญหาข้างต้นในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

3

ระยะกลาง กสม. จะจัดประชุมร่วมกับกรมประมง หน่วยงานเอกชน คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะประมวลสถานการณ์และข้อเสนอต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงระบบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม/เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

ประกาศ Kick off 5 จังหวัด

เขียนเรียบเรียง : อรกช สุขสวัสดิ์

แชร์บทความนี้