เชียงรายสนทนา กับภารกิจเปิดโฉมว่าที่สว. เชียงรายจากข้อมูล

เขียนโดย : อรกช สุขสวัสดิ์

ในวันที่ 9 มิ.ย. 2567 นี้ก็จะถึงวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในระดับอำเภอแล้ว ด้วยระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” โดยผู้สมัครสว.ของแต่ละกลุ่มอาชีพ ทำให้การได้สว.ชุดใหม่ครั้งนี้เป็นการเลือก ไม่ใช่การเลือกตั้งเหมือนสส. ที่ประชาชนมีสิทธิเลือก รวมถึงการเลือกของแต่กลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัดเป็นระบบการคัดเลือกปิด ทำให้มีช่องโหว่ หรือจัดตั้งพรรคพวกกันเองได้

การออกแบบระบบการคัดเลือกที่กีดกันประชาชนออกไป แต่อีกด้านเชียงรายสนทนา สื่อสาธารณะท้องถิ่นที่นำเสนอข่าวสาร กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและจับตากับการเลือกสว. ด้วยชุดข้อมูล เปิดมุมมองมิติใหม่ๆ ขยายภาพเรื่องการเมืองให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้  งานชิ้นนี้จึงพาไปพูดคุยกับเป๊ก ธวัชชัย ดวงนภา ตัวแทนจากทีมเชียงรายสนทนาถึงที่มาที่ไป และกระบวนการทำงานต่างๆ ของเชียงรายสนทนา

เป๊ก ทดลองทำงานสื่อมาหลายรูปแบบทั้งสารคดี และรายการข่าว จนมาเป็นเชียงรายสนทนา โดยมีเป้าหมายคือขับเคลื่อนประเด็นในท้องถิ่นโดยการใช้ข้อมูล เพื่อให้เกิดการถกเถียงร่วมกัน

เล่าจุดตั้งต้น ไอเดียของการทำประเด็นสว. ให้ฟังหน่อย

เริ่มต้นเราเห็น iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนแชร์ไฟล์ google sheet รายชื่ออย่างไม่เป็นทางการผู้สมัครสว. ทั้งหมด 48,117 คน  (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่าง) ทางออนไลน์ ซึ่งเราในฐานะ Data Journalist การไม่มีไฟล์ excel เป็นการทำงานที่ยากมาก ในช่วงแรกที่ทำจะลองเข้าไปดูข้อมูลของแต่ละเขตว่าทำอะไรบ้างแต่ยากมาก เพราะมีแต่รูปถ่าย พยายามหาไฟล์ก็ไม่เจอ สิ่งที่ยากที่สุดของการทำ data คือการคลีนข้อมูลให้มาอยู่ในตาราง ซึ่งรัฐไทยไม่ชอบทำ 

จน iLaw เอาทุกอย่างมาลง google sheet ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น นั่งอ่านข้อมูล สิ่งที่เราเห็นและตั้งคำถามคือ จะมีกลุ่มญาติโกโหติกาลงสมัครมาร่วมโหวตกันเองไหม เพราะกฎไม่ได้ห้ามว่าแต่ละตระกูลหรือหนึ่งนามสกุลสามารถสมัครได้กี่คน แล้วมีอาจารย์คนหนึ่ง มาคอมเม้นท์ว่า โดยปกติแล้วในภาคเหนือ หนึ่งหมู่บ้านจะมีนามสกุลเหมือนกันทั้งหมู่บ้าน แต่สิ่งที่พบคือนามสกุลนี้กระจายไปอยู่แต่ละอำเภอถึง 4-5 อำเภอ ซึ่งไม่ได้อยู่ติดกัน มันคือความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง ที่เรารู้สึกสนุกกับมัน แล้วเอามาเป็นประเด็นตั้งต้นทำงานต่อ

พอหลังจากอ่านข้อมูลเสร็จ มีข้อสังเกตหรือสิ่งที่น่าสนใจที่อยากบอกต่อไหม

พอเราอ่านข้อมูลทั้งหมดเสร็จเฉพาะของที่เชียงราย จะเห็นว่ามีทั้งหมด 54 นามสกุลที่มีการลงสมัครมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งทำให้เราตั้งคำถามว่าตัวเลขพวกนี้มีนัยสำคัญอะไรหรือเปล่า ปกติหรือไม่ หรือตัวอย่างที่อำเภอแม่สายอายุเฉลี่ยของผู้สมัครสว.อยู่ที่ 54 ปี ส่วนที่อำเภอป่าแดดอายุเฉลี่ยที่ 62 ซึ่งต่างกัน 8 ปี มีนัยสำคัญอะไรไหม สัมพันธ์กับบริบทพื้นที่อย่างไรเช่น ที่แม่สายอายุประชากรเฉลี่ยต่ำก็จะทำให้พรรคก้าวไกลได้ 

ส่วนกลุ่มอาชีพ เริ่มจากคำถามที่ว่าเราไม่รู้ว่าเขามีเกณฑ์การตรวจกลุ่มอาชีพของผู้สมัครยังไง อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่ได้ทำการบ้าน ศึกษามามากพอ แต่ประเด็นคือการเลือกกลุ่มอาชีพมีผลกับการเลือกตั้ง โดยในรอบระดับอำเภอมีการเลือก 2 แบบ แบบแรกกลุ่มอาชีพเดียวกันเลือกกันเอง แบบที่สองคนละกลุ่มอาชีพเลือกกัน ซึ่งเราเกิดคำถามว่านามสกุลของตระกูลนี้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ กระจายไปอยู่แต่ละอำเภอเป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นที่มากขึ้นในการได้สิทธิเลือกตั้งหรือเปล่า โดยทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต และสมมุติฐานเท่านั้น

สำหรับเชียงรายสนทนาในฐานะสื่อสาธารณะท้องถิ่น มีหน้าที่ทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้กับประชาชน ผ่านการตั้งคำถามกับระบบการเลือกตั้งสว.ครั้งนี้ เรามีทำเป็นซีรีส์ของประเด็นสว.อยู่ เช่น สิ่งที่น่าจับตามองกับการเลือกตั้งจากข้อมูลที่เราเห็นตรงหน้า คู่กับสมมุติฐานที่ตั้งเอาไว้คือ คนจากตระกูลเดียวกันลงอำเภอเดียวกันจะมีผลอย่างไรกับการเลือกตั้ง สุดท้ายจะทำให้เห็นว่าว่าสว.ในจังหวัดมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน และการตื่นตัวทางการเมืองอย่างไรเพราะต้องไปลงสมัครด้วยตนเอง

ฉะนั้นมันทำให้เห็นภาพใหญ่ทางการเมือง เวลาทำมิติทางการเมืองมันคือการทำให้เห็นระบบโครงสร้างทั้งหมด มากกว่าจะทำให้เห็นว่าไปเลือกใคร เพราะในฐานะสื่อสาธารณะเราไม่สามารถไปบอกได้คนไหนดีไม่ดี  เราจะหามุมมองที่ทำแล้วรู้สึกสนุกเลยเป็นที่มาของการทำงาน

แล้วมีโปรเจคอะไรที่จะทำต่อหลังจากนี้

ประเด็นที่เราทำจะทำต่อหลังจากนี้คือเรื่อง City branding ซึ่งได้ไอเดียมาจากกทม.ที่เปลี่ยนป้ายใหม่บน Sky Walk ตรงสยาม ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในออนไลน์ และใช้งบในการออกแบบ 3 ล้านบาทในการทำรีดีไซน์อัตลักษณ์เมืองกรุงเทพฯ ใหม่ ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 11 ประเภท  ซึ่งรวมป้ายใหม่อันนี้ด้วย เพื่อให้การสื่อสารทั้งภายในและนอกองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างการรับรู้และจดจำอัตลักษณ์ของหน่วยงานของกรุงเทพมหานครใหม่

เลยเกิดเป็นคำถามกว้างๆ ว่า แล้วเชียงรายจะทำ city branding หรือเปล่า เพราะเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ผู้ว่าฯจะทำไหม เอามาทำเป็นประเด็นที่ให้คนเชียงรายมาคุยกันต่อว่า ถ้าคุณต้องใช้เงิน 3 ล้านจะทำไหมกับสิ่งนี้ในฐานะประชาชน มากกว่าการถกเรื่องความสวยหรือไม่สวย

นอกจากนี้เรามีทำรายการสนทนา 6 โปรดักส์ อย่าง ‘มองโลกในมุมเรา’ เป็นรายงานข่าวที่เชื่อมโยงกับมุมมองของคนเชียงราย หรือ ‘เชียงรายสนทนา’ เป็นรายการ talk ความยาว 30 นาทีขึ้นไป ที่สรุปปัญหาพื้นถิ่นและส่งต่อ โดยเนื้อหาคือจะทำอย่างไรให้ผู้คนเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ต้องเลือกข่าวที่มองเห็นโอกาสในที่จะคุยต่อในนั้น เช่น เรื่องเชียงรายเป็น wellnes city  ส่วนตัวเราสนใจเรื่อง Ai แล้วมันจะเชื่อมกันได้อย่างไร อาจจะตอบโจทย์เรื่อง digital nomad  ในอนาคตที่มันจะโตขึ้นก็ได้ แล้วเราก็มีกองบรรณาธิการประชาชน เป็นพื้นที่สาธารณะ ซุบซิบข่าวในพื้นที่ โดยเราตั้งใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิวเรทข่าวด้วยกัน แต่เรากองบก.จะเป็นคนกำหนดประเด็นและร่วมรับฟัง

รายการ ‘คุยฟุ้งคุยฝุ่น’

การเป็น Data Journalist สำหรับเราความสนุกคือการได้บอกข้อเท็จจริง ตั้งข้อสังเกตหรือสมมติฐานกับประเด็นต่างๆ เพราะคิดว่าการสื่อในลักษณะนี้จะทำให้ประชาชนร่วมคิดไตร่ตรองมากขึ้น เราอยากทำเรื่องยากๆ ไม่อยากทำเรื่องง่าย ซึ่งการทำเรื่องยากแปลว่าไม่แมสไม่ดัง แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งมันดังขึ้นมาในความหมายเราคือ มีคนมารีแอคชั่นหรือดูรายการกว่าพันคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ก่อนการเลือกสว.ระดับอำเภอที่จะถึงนี้ สามารถติดตามรายการฟังเสียงประเทศไทย x องศาเหนือ ชวนฟังเสียงคนเหนือ “สว.แบบไหนที่ #คนเหนืออยากเห็น” ร่วมกับภาคีเครือข่าย สื่อสาธารณะท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ที่จะมาล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นและความคาดหวังจากพื้นที่ภูมิภาควันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ หอปรัชญารัชกาลที่9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หรือติดตามได้ช่องทางเพจนักข่าวพลเมือง

ที่มา

รายชื่ออย่างไม่เป็นทางการผู้สมัครสว. ทั้งหมด 48,117 คน

https://www.facebook.com/photo/?fbid=786594786982006&set=pcb.786599483648203

แชร์บทความนี้