เขียนโดย : อรกช สุขสวัสดิ์
ในวันที่ 9 มิ.ย. 2567 นี้ก็จะถึงวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในระดับอำเภอแล้ว ด้วยระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” โดยผู้สมัครสว.ของแต่ละกลุ่มอาชีพ ทำให้การได้สว.ชุดใหม่ครั้งนี้เป็นการเลือก ไม่ใช่การเลือกตั้งเหมือนสส. ที่ประชาชนมีสิทธิเลือก รวมถึงการเลือกของแต่กลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัดเป็นระบบการคัดเลือกปิด ทำให้มีช่องโหว่ หรือจัดตั้งพรรคพวกกันเองได้
การออกแบบระบบการคัดเลือกที่กีดกันประชาชนออกไป แต่อีกด้าน ‘เชียงรายสนทนา’ สื่อสาธารณะท้องถิ่นที่นำเสนอข่าวสาร กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและจับตากับการเลือกสว. ด้วยชุดข้อมูล เปิดมุมมองมิติใหม่ๆ ขยายภาพเรื่องการเมืองให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ งานชิ้นนี้จึงพาไปพูดคุยกับเป๊ก ธวัชชัย ดวงนภา ตัวแทนจากทีมเชียงรายสนทนาถึงที่มาที่ไป และกระบวนการทำงานต่างๆ ของเชียงรายสนทนา
เล่าจุดตั้งต้น ไอเดียของการทำประเด็นสว. ให้ฟังหน่อย
เริ่มต้นเราเห็น iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนแชร์ไฟล์ google sheet รายชื่ออย่างไม่เป็นทางการผู้สมัครสว. ทั้งหมด 48,117 คน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่าง) ทางออนไลน์ ซึ่งเราในฐานะ Data Journalist การไม่มีไฟล์ excel เป็นการทำงานที่ยากมาก ในช่วงแรกที่ทำจะลองเข้าไปดูข้อมูลของแต่ละเขตว่าทำอะไรบ้างแต่ยากมาก เพราะมีแต่รูปถ่าย พยายามหาไฟล์ก็ไม่เจอ สิ่งที่ยากที่สุดของการทำ data คือการคลีนข้อมูลให้มาอยู่ในตาราง ซึ่งรัฐไทยไม่ชอบทำ
จน iLaw เอาทุกอย่างมาลง google sheet ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น นั่งอ่านข้อมูล สิ่งที่เราเห็นและตั้งคำถามคือ จะมีกลุ่มญาติโกโหติกาลงสมัครมาร่วมโหวตกันเองไหม เพราะกฎไม่ได้ห้ามว่าแต่ละตระกูลหรือหนึ่งนามสกุลสามารถสมัครได้กี่คน แล้วมีอาจารย์คนหนึ่ง มาคอมเม้นท์ว่า โดยปกติแล้วในภาคเหนือ หนึ่งหมู่บ้านจะมีนามสกุลเหมือนกันทั้งหมู่บ้าน แต่สิ่งที่พบคือนามสกุลนี้กระจายไปอยู่แต่ละอำเภอถึง 4-5 อำเภอ ซึ่งไม่ได้อยู่ติดกัน มันคือความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง ที่เรารู้สึกสนุกกับมัน แล้วเอามาเป็นประเด็นตั้งต้นทำงานต่อ
พอหลังจากอ่านข้อมูลเสร็จ มีข้อสังเกตหรือสิ่งที่น่าสนใจที่อยากบอกต่อไหม
พอเราอ่านข้อมูลทั้งหมดเสร็จเฉพาะของที่เชียงราย จะเห็นว่ามีทั้งหมด 54 นามสกุลที่มีการลงสมัครมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งทำให้เราตั้งคำถามว่าตัวเลขพวกนี้มีนัยสำคัญอะไรหรือเปล่า ปกติหรือไม่ หรือตัวอย่างที่อำเภอแม่สายอายุเฉลี่ยของผู้สมัครสว.อยู่ที่ 54 ปี ส่วนที่อำเภอป่าแดดอายุเฉลี่ยที่ 62 ซึ่งต่างกัน 8 ปี มีนัยสำคัญอะไรไหม สัมพันธ์กับบริบทพื้นที่อย่างไรเช่น ที่แม่สายอายุประชากรเฉลี่ยต่ำก็จะทำให้พรรคก้าวไกลได้
ส่วนกลุ่มอาชีพ เริ่มจากคำถามที่ว่าเราไม่รู้ว่าเขามีเกณฑ์การตรวจกลุ่มอาชีพของผู้สมัครยังไง อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่ได้ทำการบ้าน ศึกษามามากพอ แต่ประเด็นคือการเลือกกลุ่มอาชีพมีผลกับการเลือกตั้ง โดยในรอบระดับอำเภอมีการเลือก 2 แบบ แบบแรกกลุ่มอาชีพเดียวกันเลือกกันเอง แบบที่สองคนละกลุ่มอาชีพเลือกกัน ซึ่งเราเกิดคำถามว่านามสกุลของตระกูลนี้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ กระจายไปอยู่แต่ละอำเภอเป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นที่มากขึ้นในการได้สิทธิเลือกตั้งหรือเปล่า โดยทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต และสมมุติฐานเท่านั้น
สำหรับเชียงรายสนทนาในฐานะสื่อสาธารณะท้องถิ่น มีหน้าที่ทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้กับประชาชน ผ่านการตั้งคำถามกับระบบการเลือกตั้งสว.ครั้งนี้ เรามีทำเป็นซีรีส์ของประเด็นสว.อยู่ เช่น สิ่งที่น่าจับตามองกับการเลือกตั้งจากข้อมูลที่เราเห็นตรงหน้า คู่กับสมมุติฐานที่ตั้งเอาไว้คือ คนจากตระกูลเดียวกันลงอำเภอเดียวกันจะมีผลอย่างไรกับการเลือกตั้ง สุดท้ายจะทำให้เห็นว่าว่าสว.ในจังหวัดมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน และการตื่นตัวทางการเมืองอย่างไรเพราะต้องไปลงสมัครด้วยตนเอง
ฉะนั้นมันทำให้เห็นภาพใหญ่ทางการเมือง เวลาทำมิติทางการเมืองมันคือการทำให้เห็นระบบโครงสร้างทั้งหมด มากกว่าจะทำให้เห็นว่าไปเลือกใคร เพราะในฐานะสื่อสาธารณะเราไม่สามารถไปบอกได้คนไหนดีไม่ดี เราจะหามุมมองที่ทำแล้วรู้สึกสนุกเลยเป็นที่มาของการทำงาน
แล้วมีโปรเจคอะไรที่จะทำต่อหลังจากนี้
ประเด็นที่เราทำจะทำต่อหลังจากนี้คือเรื่อง City branding ซึ่งได้ไอเดียมาจากกทม.ที่เปลี่ยนป้ายใหม่บน Sky Walk ตรงสยาม ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในออนไลน์ และใช้งบในการออกแบบ 3 ล้านบาทในการทำรีดีไซน์อัตลักษณ์เมืองกรุงเทพฯ ใหม่ ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 11 ประเภท ซึ่งรวมป้ายใหม่อันนี้ด้วย เพื่อให้การสื่อสารทั้งภายในและนอกองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างการรับรู้และจดจำอัตลักษณ์ของหน่วยงานของกรุงเทพมหานครใหม่
เลยเกิดเป็นคำถามกว้างๆ ว่า แล้วเชียงรายจะทำ city branding หรือเปล่า เพราะเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ผู้ว่าฯจะทำไหม เอามาทำเป็นประเด็นที่ให้คนเชียงรายมาคุยกันต่อว่า ถ้าคุณต้องใช้เงิน 3 ล้านจะทำไหมกับสิ่งนี้ในฐานะประชาชน มากกว่าการถกเรื่องความสวยหรือไม่สวย
นอกจากนี้เรามีทำรายการสนทนา 6 โปรดักส์ อย่าง ‘มองโลกในมุมเรา’ เป็นรายงานข่าวที่เชื่อมโยงกับมุมมองของคนเชียงราย หรือ ‘เชียงรายสนทนา’ เป็นรายการ talk ความยาว 30 นาทีขึ้นไป ที่สรุปปัญหาพื้นถิ่นและส่งต่อ โดยเนื้อหาคือจะทำอย่างไรให้ผู้คนเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ต้องเลือกข่าวที่มองเห็นโอกาสในที่จะคุยต่อในนั้น เช่น เรื่องเชียงรายเป็น wellnes city ส่วนตัวเราสนใจเรื่อง Ai แล้วมันจะเชื่อมกันได้อย่างไร อาจจะตอบโจทย์เรื่อง digital nomad ในอนาคตที่มันจะโตขึ้นก็ได้ แล้วเราก็มีกองบรรณาธิการประชาชน เป็นพื้นที่สาธารณะ ซุบซิบข่าวในพื้นที่ โดยเราตั้งใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิวเรทข่าวด้วยกัน แต่เรากองบก.จะเป็นคนกำหนดประเด็นและร่วมรับฟัง
การเป็น Data Journalist สำหรับเราความสนุกคือการได้บอกข้อเท็จจริง ตั้งข้อสังเกตหรือสมมติฐานกับประเด็นต่างๆ เพราะคิดว่าการสื่อในลักษณะนี้จะทำให้ประชาชนร่วมคิดไตร่ตรองมากขึ้น เราอยากทำเรื่องยากๆ ไม่อยากทำเรื่องง่าย ซึ่งการทำเรื่องยากแปลว่าไม่แมสไม่ดัง แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งมันดังขึ้นมาในความหมายเราคือ มีคนมารีแอคชั่นหรือดูรายการกว่าพันคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ก่อนการเลือกสว.ระดับอำเภอที่จะถึงนี้ สามารถติดตามรายการฟังเสียงประเทศไทย x องศาเหนือ ชวนฟังเสียงคนเหนือ “สว.แบบไหนที่ #คนเหนืออยากเห็น” ร่วมกับภาคีเครือข่าย สื่อสาธารณะท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ที่จะมาล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นและความคาดหวังจากพื้นที่ภูมิภาควันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ หอปรัชญารัชกาลที่9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หรือติดตามได้ช่องทางเพจนักข่าวพลเมือง
ที่มา
รายชื่ออย่างไม่เป็นทางการผู้สมัครสว. ทั้งหมด 48,117 คน
https://www.facebook.com/photo/?fbid=786594786982006&set=pcb.786599483648203