ส่องร่างงบ 68 แผนงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไปทางไหน ?

ร่างงบประมาณปี 2568 นอกเหนือจากงบประมาณตามแผนงานนโยบายและแผนงานประจำของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชายแดนใต้ ยังมีกลุ่มงบประมาณที่น่าจับตามองอีก 1 กลุ่ม คือ แผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานตัดขวางระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยแผนงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดอยู่ในงบประมาณบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ กลุ่มที่ 1 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 แผนงาน เป็นแผนงานที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแผนงานที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่

หากกล่าวโดยสรุป รายละเอียดของแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานหลัก 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ด้านความมั่นคง เน้นการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยับยั้งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย เพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรอง บูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี แนวทางที่ 2 ด้านการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา เน้นการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับประชาชน เสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม อำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พัฒนาเศรษฐกิจและศักยภาพพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

แนวโน้มงบบูรณาการแก้ปัญหาชายแดนใต้ลดลง

ภาพรวมของงบประมาณ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2568 รวมทั้งสิ้น 83,272.5 ล้านบาท เฉพาะปีงบประมาณ 2568 คือ 5,781.9 ล้านบาท

แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของร่างงบประมาณ จากไฟล์ที่ภาคพลเมืองโดยทีมงาน #WeVis และ #ก้าวGeek ร่วมกันเปลี่ยนข้อมูลงบประมาณให้อยู่ในรูปแบบที่เอื้อให้ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน ค้นหา ตั้งคำถาม และตรวจสอบง่ายขึ้นร่วมกันแปลง พบว่า แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมด 8.6 พันล้านบาท (8,640,237,00) เพราะมีงบผูกพันข้ามปีรวมเข้ามาด้วย

เมื่อจำแนกแผนงานที่กระจายอยู่ตามกระทรวงหรือหน่วยงานย่อยต่าง ๆ พบว่าแผนบูรณาการนี้ ประกอบร่างจาก 14 โครงการ ดังนี้

โครงการงบประมาณ
โครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่4,296,618,400
โครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน1,797,026,400
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรอง1,222,899,100
โครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน416,466,800
โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน373,281,500
โครงการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ216,258,500
โครงการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยหลักธรรมาภิบาล63,779,300
โครงการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้วยหลักธรรมาภิบาล61,975,000
โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้าง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน57,922,000
โครงการเสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือ55,964,000
โครงการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ54,201,600
โครงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี17,891,300
โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรม ที่เข้มแข็งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน4,146,100
โครงการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2,075,2001,807,000
**หมายเหตุ โครงการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2,075,200 เป็นของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

น้ำหนักของงบประมาณทั้ง 14 โครงการกระจายไปยัง 46 หน่วยงานย่อยในกระทรวงและองค์กรต่าง ๆ

โครงการที่มียอดงบประมาณรวมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. โครงการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ 4 พันล้านบาท
  2. โครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 1.7 พันล้านบาท
  3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรอง 1.2 พันล้านบาท

กล่าวโดยสรุปงบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความยุติธรรม ตามกรอบนโยบาย การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติสุข โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และคุณภาพชีวิต

สิ่งที่น่าสนใจหากดูรายละเอียดในระดับของงบประมาณที่ลึกลงไปพบการใช้งบประมาณย่อย ๆ ที่น่าสนใจเช่น

  • กว่า 600 ล้านบาท ใช้สำหรับการติดตั้งระบบความปลอดภัยในเขตเมืองระยะที่ 2 ด้วยระบบโทรทัศน์กล้องวงจรปิด (CCTV) ในเขตพื้นที่ 6 อำเภอ
  • 588 ล้านบาทใช้สำหรับ ค่าก่อสร้างทางและสะพานที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท รวม 131 รายการ
  • 516 ล้านบาทใช้เพื่อการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบชายแดนไทย – มาเลเซีย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 1 แห่ง

ผู้สนใจสามารถใช้แดชบอร์ดนี้ อ่านร่างงบประมาณตามความสนใจได้ โดยคลิกที่ภาพด้านล่าง

ขณะที่การอภิปรายงบประมาณ 2568 ยังดำเนินไปในการประชุมสภา นอกจากการเป็นเพียงผู้รับชมแล้ว เราทุกคน โดยเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังสามารถเป็นผู้ร่วมแชร์ ข้อมูล ประสบการณ์ของคนในพื้นที่ในการร่วมกำหนดโจทย์การพัฒนา การศึกษาวิจัย ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะ ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อทำให้ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพราะแม้กระทั่ง เอกสารวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงบประมาณ ระบุว่าแผนงานบูรณาการทั้ง 10 แผนงาน ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมีลักษณะคล้ายงานประจำ โดยไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจน และไม่เป็นไปตามวิธีการจัดทำแผนงานบูรณาการที่สำนักงานงบประมาณกำหนด

แชร์บทความนี้