บก.บอกกล่าวVol 2

   

พบกันเป็น Vol 2 . สำหรับ   Locals Public Journal  วารสารสาธารณะเพื่อท้องถิ่นร่วมสมัยจากไทยพีบีเอส ที่คัดสรรเรื่องราวสำคัญของท้องถิ่นไทยมาให้ได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ กันนะคะ   

สงกรานต์เพิ่งผ่านไป   กลิ่นหอมของไอดินจากบ้านเกิดยังติดอยู่ปลายจมูก…  เสียงดนตรีแบบฉบับของท้องถิ่นแต่ละภาคยังก้องอยู่ในหูกันหรือเปล่า ?   ช่วงเวลาของการกลับไปบ้านเกิดและรับพลังจากท้องถิ่นมันคือความสุขของคนท้องถิ่นอย่างเรานะคะ  Locals ฉบับนี้จึงยังอยากต่อเนื่องถึงกลิ่นอายนี้อยู่

 เราหยิบเรื่องราวของ “หมอลำ” ความม่วนซื่นโฮแซวของชาวอีสานมาเป็นเรื่องจากปก  

แม่ราตรีศรีวิไล ราชินีหมอลำซิ่งผู้ได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ คือภาพสะท้อนการยอมรับวิถีวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย  และปรากฏการณ์ “หมอลำ” มีหลายแง่มุมให้ชวนคิด โดยเฉพาะบทบาทการเป็น Soft power  ที่จะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แต่หากเราจะมองถึงคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในวาระของวันแรงงาน 1 พ.ค.ของทุกปีด้วยแล้ว  คำถามใหญ่ๆ คือ จะยกระดับกับคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของแรงงานเหล่านี้ได้ กี่โมง ?  ชวนหาคำตอบในบทสัมภาษณ์พิเศษ รศ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และติดตามชม รายการคุณเล่าเราขยายตอน หมอลำ Summer ในศุกร์ที่ 26 เมษายนนี้ ทางหน้าจอไทยพีบีเอส

ไหนๆ ก็ว่าด้วยเรื่องแรงงาน …  ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปัจจุบัน  “ไทยเราเป็นประเทศปลายทางที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน” พวกเขาคือฟันเฟืองสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่มีการรับมือและดูแลด้านสุขภาพกันมากน้อยแค่ไหน  ? ชวนอ่านข้อมูลและแสดงความเห็นร่วมกันในฉบับนี้ได้

เรื่องสำคัญที่อยากชวนอ่านอีกเรื่องคือ  “ฝุ่นไฟ” เป็นเรื่องใหญ่ระดับภูมิภาค เพราะไม่มีพรมแดนระหว่างฝุ่น และผู้คนไม่อาจรอการแก้ไขจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ปีนี้เป็นครั้งแรก ที่ประชาชนภาคเหนือสองฟากฝั่ง ไทย-ลาว และไทย-กะเหรี่ยงลุ่มน้ำสาละวิน  จับมือแลกเปลี่ยนหาทางแก้ไขปัญหา  พวกเขาทำอะไรกันบ้าง อยากให้ติดตามอ่านในฉบับกัน

ปิดท้ายคอลัมน์ คม คำ คม สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวน่าสนใจสอดคล้องกับช่วงเวลานี้คือ “บุญกุโบร์” การทำบุญให้บรรพบุรุษ ของคนแขกมลายูลุ่มเลสาบสงขลา  

เรื่องหาอ่านได้ยากและเฉพาะถิ่นแบบนี้ มาจากเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นของเรา “สงขลาใกล้ใกล้ทะเล”  ชวนอ่านกันค่ะ

อัจฉราวดี บัวคลี่

แชร์บทความนี้