‘การพนันไม่ใช่เรื่องไกลตัว’ คำเตือนจากนักระบาดวิทยาท่ามกลางกระแสค้านร่างกฎหมายกาสิโน

อย่าคิดว่าไกลตัว…” คือคำเตือนของนักระบาดวิทยาผู้คลุกคลีกับระบบสุขภาพและโครงสร้างชุมชนในพื้นที่ชายแดนใต้มานานกว่าทศวรรษ เมื่อถูกถามถึง “ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงแบบครบวงจร พ.ศ. ….” หรือ “ร่างกฎหมายกาสิโน” ที่แม้จะเพิ่งเลื่อนการพิจารณาญัตติด่วนไปก่อน แต่ก็จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในการประชุมสมัยหน้า 

ขณะที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถามต่ออนาคตของประเทศที่อาจเดินหน้าสู่การทำให้ธุรกิจการพนันเป็นเรื่อง “ถูกกฎหมาย” ในกรอบจำกัดที่รัฐออกแบบ เสียงเตือนจากคนหน้างานกลับย้ำว่า ปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ใช่เรื่อง “ถูกหรือผิด” ในทางกฎหมาย แต่คือคำถามว่า เราเข้าใจผลกระทบเชิงโครงสร้างของการพนันดีพอแล้วหรือยัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ระบบรองรับยังเปราะบาง

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพนันไม่ใช่เพียงเรื่องศีลธรรม แต่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจนอกระบบ การเข้าถึงบริการพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่ต้องดิ้นรนในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน บางครั้งการพนันจึงไม่ใช่แค่ “อบายมุข” แต่คือ “ทางรอดชั่วคราว” ที่กลายเป็นกับดักระยะยาว หนึ่งในเสียงเตือนที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือข้อเสนอจาก ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักระบาดวิทยา และ ผอ.ศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีประสบการณ์ตรงกับระบบสุขภาพและโครงสร้างสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเขามองว่า การพนันไม่ใช่แค่ “พฤติกรรมเสี่ยง” ที่ควบคุมได้ด้วยกฎหมาย แต่คือ “ระบบความพึ่งพา” ที่อาจทำลายโครงสร้างชุมชนอย่างช้า ๆ หากรัฐไม่วางแผนรับมืออย่างรอบด้านและครอบคลุม

กองบรรณาธิการ “แลต๊ะแลใต้” จึงขอพาผู้อ่านเข้าสู่บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม เพื่อเปิดมุมมองที่ไม่ค่อยได้ยินจากพื้นที่ชายแดนใต้ มุมมองที่ไม่ได้พูดถึงแค่ “กาสิโน” แต่ย้อนถามถึงความเข้าใจของสังคมไทยต่อการพนันในฐานะปัจจัยทางสุขภาพ สังคม และโครงสร้างครอบครัวที่ลึกซึ้งและซับซ้อนเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นเพียงการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติในห้องประชุม

‘ทางรอด’ ที่กลายเป็น ‘กับดักการพนัน’ ในสังคมไร้ทางเลือก

“การพนันมันไม่ใช่ของใหม่ มันอยู่คู่สังคมเรามานานแล้ว” อ.ฟาห์มีกล่าว “แต่การที่เราจะ ‘ปลดล็อก’ โดยที่ยังไม่รู้จักมันดีพอ หรือยังไม่มีระบบรองรับที่แข็งแรงเพียงพอ มันคือการเปิดช่องให้ปัญหาใหญ่ตามมา” เขายกตัวอย่างกรณีการปลดล็อกพืชกระท่อมในอดีต ซึ่งแม้มีเจตนาดีในการเปิดโอกาสให้พืชสมุนไพรท้องถิ่นสามารถใช้ในเชิงเศรษฐกิจได้ แต่การขาดการควบคุมตั้งแต่ต้นก็ทำให้เกิดภาพที่หลายคนเคยเห็น เด็กวัยรุ่นขายใบกระท่อมริมถนน หรือการบริโภคเกินขนาดที่ควบคุมไม่ได้ 

“การออกกฎหมายตามหลังปัญหา มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าเราเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต เราควรตั้งคำถามให้มากขึ้นว่า การพนันถูกกฎหมาย จะทำให้เราอยู่ในจุดที่ควบคุมได้จริงหรือไม่?”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

ในมุมมองของเขา การพนันก็มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน “ถ้าเราเปิดให้การพนันถูกกฎหมาย แต่ยังไม่มีระบบที่จะช่วยควบคุมหรือพยุงคนที่ ‘พึ่งพา’ การพนันในการดำรงชีวิต มันจะย้อนกลับมาทำลายโครงสร้างสังคมในระยะยาว” เขาอธิบายว่า ผู้คนที่เข้าสู่การพนันอย่างถาวร มักเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจหรือการศึกษา และมองว่าการพนันคือ ‘ทางรอด’ ในสังคมที่ไม่เหลือทางเลือกอื่น “บางคนไม่ได้เล่นเพราะความสนุก แต่เล่นเพราะมันให้เงินเร็วกว่าออกไปทำงานที่เหนื่อยและได้ค่าแรงต่ำ”

“ศาสนาเองก็เคยเป็นกลไกควบคุมมาก่อน โดยมองว่าการพนันเป็นบาป เพราะมันทำให้คนไม่ทำมาหากิน ไม่ทำการเกษตร ไม่ประกอบอาชีพ ถ้าเราปล่อยให้กฎหมายอย่างเดียวทำหน้าที่แทนสังคมทั้งหมด โดยไม่มีรากฐานของชุมชนมาร่วมด้วย ปัญหานี้จะย้อนกลับมาใหญ่กว่าเดิมแน่นอน”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น อ.ฟาห์มีเล่าย้อนถึงประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในภาคใต้ “คนในเกาะนั้นดั้งเดิมเป็นชาวประมง รายได้ไม่มาก การศึกษาไม่สูง แล้วพอเริ่มมีการท่องเที่ยวเข้าไป คนในท้องถิ่นบางส่วนก็กลายเป็นลูกจ้าง คนขับเรือ ส่งเงินให้ครอบครัว แล้วเวลาว่างก็เข้าไปในบ่อน เล่นกันทั้งวันทั้งคืน”

“เมื่อระบบเศรษฐกิจหรือโครงสร้างสังคมเปลี่ยน คนก็เปลี่ยนตาม เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อระบบบีบบังคับให้ต้องปรับตัว พวกเขาก็หันไปหารายได้ใหม่ๆ ซึ่งบางครั้งอาจรวมถึงกิจกรรมผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการพนันหรือยาเสพติด”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เขาเน้นว่า สังคมขนาดเล็กแบบนั้นเปราะบางต่อพฤติกรรมเสี่ยงมาก เพราะเมื่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ได้ถูกออกแบบให้กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การพนันก็กลายเป็น ‘พื้นที่พักใจ’ ที่สุดท้ายดึงคนออกจากการพัฒนาศักยภาพของตัวเองและชุมชน

“ถ้ารายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดตกไปอยู่ในมือของคนนอกพื้นที่ ส่วนคนในกลายเป็นแรงงานราคาถูก ติดการพนัน ไม่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ แบบนั้นเรียกว่าการพัฒนาหรือเปล่า?” อ.ฟาห์มีย้ำว่า การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันต้องมองให้ลึกกว่าแค่กรอบ ‘ถูกหรือผิด’ แต่ต้องพิจารณาว่า สังคมมีภูมิคุ้มกันพอหรือยัง มีระบบคุ้มครองกลุ่มเปราะบางหรือไม่ และมีแนวทางในการสร้างความเข้าใจอย่างรอบด้านให้ประชาชนหรือยัง อ.ฟาห์มีเสนอว่าคำถามสำคัญไม่ใช่ว่า “จะออกกฎหมายหรือไม่” แต่คือ “เรามีระบบอะไรรับมือกับผลกระทบของการพนันหรือเปล่า?” ไม่ว่าจะเป็นระบบดูแลสุขภาพจิต ระบบการศึกษาที่สอนให้คิดอย่างมีเหตุผล หรือแม้แต่กลไกในชุมชนที่ช่วยกันป้องกันปัญหา

“กฎหมายที่ออกช้ากว่าปัญหาอาจยังพอแก้ได้ แต่กฎหมายที่ออกมาโดยไม่เข้าใจปัญหา อาจสร้างปัญหาใหม่ที่แก้ไม่ได้เลยก็ได้”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

‘การพนันออนไลน์’ ปัญหาที่ใกล้กว่า ‘กาสิโน

แม้ร่างกฎหมาย Entertainment Complex ที่กำลังถูกถกเถียงในสังคมจะมุ่งเน้นไปที่การเปิด “กาสิโนครบวงจร” อย่างถูกกฎหมาย โดยมีจุดขายเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ อ.ฟาห์มีต้องการชวนให้ตั้งคำถามคือ การที่รัฐและสังคมไทยกลับละเลยปัญหาการพนันอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วอย่างเงียบ ๆ และแพร่หลาย นั่นคือ “การพนันออนไลน์” ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า และกระทบกลุ่มเด็ก-เยาวชนอย่างลึกซึ้งกว่า ทั้งในระดับพฤติกรรม สุขภาพจิต และโครงสร้างครอบครัว การมุ่งเน้นไปที่การควบคุมกาสิโนอย่างเดียว จึงอาจเป็นการมองข้ามวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า

“วันนี้เด็กในโรงเรียนหลายแห่งเข้าถึงเว็บพนันได้ง่ายกว่าหนังสือเรียน รัฐยังตามไม่ทัน ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจำกัดโฆษณา การพนันกีฬา หรือเกมออนไลน์ที่แฝงการเดิมพัน ทั้งที่มันคือเรื่องใกล้ตัวกว่ากาสิโนหลายเท่า”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

อ.ฟาห์มีตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ผลักดันแนวคิดกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรมักกล่าวว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ทำให้การพนันเข้าถึงง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นการดึงกิจกรรมดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษี พร้อมทั้งยกตัวอย่างความสำเร็จของ “เก็นติ้งไฮแลนด์” ในมาเลเซีย ที่ควบคุมได้อย่างมีระบบ อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักระบาดวิทยา เขามองว่า ประเทศไทยยังไม่มีระบบควบคุมที่เข้มแข็งเพียงพอ เหมือนกับประเทศต้นแบบ และสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือระบบสนับสนุนครอบครัว

“สิ่งที่น่ากลัวกว่าคาสิโนจริงๆ คือการพนันออนไลน์ เพราะมันเข้าถึงคนได้ทันที ทุกคนสามารถเข้าไปเล่นได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตัวเมือง ตำบล หรือบ้านไหนก็ตาม โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ไหนเลย เด็กหรือวัยรุ่นสามารถเล่นได้จากมือถือของตัวเอง”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

จากการศึกษาของนักวิจัยในพื้นที่ พบว่า เยาวชนชุมชนหนึ่งในจังหวัดยะลา กว่า 30% เคยมีประสบการณ์กับการพนันออนไลน์ (สุไรยา และคณะ, 2564) ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานระดับประเทศหรือระดับสากล อ.ฟาห์มีระบุว่า ปรากฏการณ์นี้กำลังส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเยาวชน เพราะการพนันไม่ใช่แค่การเสี่ยงโชค แต่ยังเกี่ยวข้องกับ “พฤติกรรมเสพติด” ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง

“พอเสพติดความสุขจากการพนัน เราจะควบคุมตัวเองไม่ได้ มีเงินก็ต้องเอาไปเล่น บางทีก็ต้องขโมยไปหาเงินเพิ่ม เพื่อไปเล่นต่อ นี่คือลักษณะของการเสียการควบคุมในระดับจิตใจ”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

ในฐานะนักระบาดวิทยา อ.ฟาห์มีชี้ให้เห็นว่า การติดการพนันสามารถจัดอยู่ในกลุ่มปัญหาสุขภาพจิต เช่นเดียวกับการเสพติดสารเสพติด เพราะพฤติกรรมการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นและการเสียการควบคุมตนเองมีลักษณะคล้ายกัน เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อเยาวชนติดการพนัน ผลกระทบจะขยายไปถึงครอบครัวและชุมชน การก่อหนี้ การลักขโมย การหลุดจากระบบการศึกษา หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางสุขภาพกายไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า การใช้สารเสพติดร่วม 

ในมุมมองของเขา “การทำให้การพนันถูกกฎหมาย” โดยอ้างว่าจะเก็บภาษีได้ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีในสังคมที่ยังขาดระบบป้องกันและฟื้นฟูที่แข็งแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่างเยาวชน อ.ฟาห์มีจึงเสนอให้มีการพิจารณา “ระบบสุขภาพและระบบสังคม” ไปพร้อมกับการออกกฎหมาย ไม่ใช่เพียงดูตัวเลขเศรษฐกิจหรือรายได้ภาครัฐเท่านั้น

“ถ้าเราจะพูดถึง Entertainment Complex จริงๆ เราต้องถามก่อนว่าระบบการป้องกันของเราพร้อมแค่ไหน ไม่ใช่แค่ตรวจบัตรอายุหน้าประตู แต่ต้องมีระบบดูแลผู้ติดการพนัน มีช่องทางบำบัด มีการให้คำปรึกษาอย่างเป็นระบบ นั่นต่างหากที่เป็นรากฐานที่ควรมี ก่อนจะเปิดเสรีสิ่งที่อาจสร้างปัญหาใหม่ให้สังคม”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับ “ต้นน้ำ” ของปัญหา ไม่ใช่เพียงแต่จัดการ “ปลายน้ำ” ด้วยการบังคับใช้กฎหมายหรือเก็บภาษีเท่านั้น หากแต่ต้องเริ่มจากการป้องกัน การให้การศึกษา และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเยาวชนในทางที่สร้างสรรค์

ความเห็นในฐานะนักธุรกิจ
การพนันไม่ใช่ทางเลือกของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในช่วงท้ายของบทสนทนา กองบรรณาธิการ “แลต๊ะแลใต้” ได้ตั้งคำถามถึงมุมมองของ ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ในฐานะนักธุรกิจที่คลุกคลีกับเศรษฐกิจฐานรากในชายแดนใต้ ว่าการลงทุนของรัฐเพื่อสร้าง Entertainment Complex ซึ่งรวมถึงคาสิโนถูกกฎหมาย จะคุ้มค่าหรือไม่ และจะนำพาสังคมไทยไปในทิศทางใด

อาจารย์เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ อาหาร และประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์ อาจารย์กล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้คือแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นรากฐานของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งดูเหมือนจะตรงข้ามกับร่างกฎหมายที่เพิ่งถูกเลื่อนพิจารณาไป” จากมุมมองเชิงเปรียบเทียบ อาจารย์ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานการท่องเที่ยวที่มั่นคง เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าประชากรภายในประเทศ แต่ก็สามารถรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการธำรงคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมได้ ในทางกลับกัน อาจารย์เตือนถึงกรณีศึกษาอย่างเมืองคันคูนในเม็กซิโก ซึ่งเคยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอเมริกัน แต่เมื่อการพัฒนาเกิดขึ้นโดยขาดการวางแผนและควบคุม เมืองก็กลายเป็นพื้นที่ไร้ระเบียบ เต็มไปด้วยปัญหาการใช้ยาเสพติด การพนัน และการฟอกเงิน

“เมืองที่พัฒนาโดยไม่มีหลักคิดเชิงคุณค่า จะนำไปสู่การบั่นทอนศักยภาพของประเทศระยะยาว”
— ดร.น.พ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

ในบริบทของไทย หากรัฐเลือกสร้าง Entertainment Complex ที่มีคาสิโนเป็นศูนย์กลาง อาจารย์มองว่ากลุ่มเป้าหมายหลักจะไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่มาเพื่อสัมผัสวัฒนธรรม หรือครอบครัวที่ต้องการความบันเทิงที่ปลอดภัย แต่กลับเป็น “คนที่มีสีเทา สีดำ ที่ต้องการหาช่องทางฟอกเงินหรือลงทุนในธุรกิจนอกระบบ” ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมโดยรวม “ถึงแม้รัฐจะควบคุมให้การพนันอยู่ในระบบก็ตาม แต่ถ้าผู้เล่นคือกลุ่มทุนที่ไม่โปร่งใส ผลกระทบต่อประเทศจะกลายเป็นลบมากกว่าบวก” อาจารย์เตือน พร้อมชี้ว่าการลงทุนของกลุ่มทุนสีเทาในระยะยาวแทบไม่ก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างแท้จริง

ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ เมื่อถามถึงคำแนะนำต่อภาครัฐ อาจารย์ตอบสั้น ๆ ว่า “ไม่มีแล้วครับ” แต่คำกล่าวที่สั้นนั้นอาจสะท้อนความชัดเจนในจุดยืนว่า ประเทศไทยไม่ควรเดินตามเส้นทางของการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการพนันที่ถูกกฎหมาย เพราะไม่ใช่การลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง
สุไรยา หนิเระ, สุรชัย ไววรรธนจิตร, ธีรวุฒิ จาปริส, และ รุ่งโรจน์ ซอบหวาน. (2564). “การบูรณาการบ้าน โรงเรียน มัสยิด-บรม” : แรงสนับสนุนทางสังคมกลไกในการแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

แชร์บทความนี้