‘ปอยต้นธี’ ปีใหม่ชาวกะยัน เมื่อชุมชนจัดการท่องเที่ยว ที่แม่ฮ่องสอน

ปอยต้นที บ้านห้วยปูแกง จงแม่ฮ่องสอน

ชุมชนชาวกะยัน หรือกะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดงานประเพณี ปอยต้นธี หรือชาวกะยันเรียกว่า “กั่งควั่ง” เป็นประเพณีการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ตามความเชื่อของชาวกะยัน

เอกลักษณ์ของผู้หญิงชาวกะยันที่สวมห่วงทองเหลืองซ้อนกันหลายห่วง ตั้งแต่ไหปลาร้าจรดคาง

“ต้นธี” เป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาและชายแดนในประเทศไทย ไม่ว่าไทใหญ่ กะยอ กะแย(กะเหรี่ยงแดง) กะยัน จะนับถือต้นธี ส่วนเสาต้นธี ในอดีตจะใช้ต้นหว้า เพราะเชื่อว่าเป็นต้นไม้ต้นแรกที่ถือกำเนิดในโลก ในอตีตเสาต้นธีจะต้องเป็นต้นหว้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวกะยันได้ปรับเปลี่ยนหันมาใช้ต้นไม้อื่นแทน เช่น ต้นตองตึง ที่หาได้ง่ายกว่าแทน ส่วนคำว่า “ธี” หมายถึงร่ม หรือฉัตร เป็นส่วนปลายของ เสาต้นธี จะประดับประดาอย่างสวยงาม มีส่วนยอดที่สวมไว้ลักษณะคล้ายกับร่ม

งานปอยต้นธี จะจัดกัน 3 วัน วันแรกจะเป็นการตัดต้นไม้เพื่อนำมาเป็นต้นธี และ นำต้นไม้เข้ามายังลานพิธีของหมู่บ้าน วันที่ 2 เป็นการประดับตกแต่งต้นธี และวันที่ 3 เป็นการปลูก หรือตั้งต้นธี เมื่อตั้งต้นธีเสร็จแล้วจะมีการเต้นรำของผู้ชายชาวกะยันรอบต้นธี เพื่อเป็นการสักการะบวงสรวง เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชุมชน

พิธีการเสี่ยงทายกระดูกไก่ปีนี้ผลผลิตจะดี มีคนภายนอกเข้ามาในชุมชนมากขึ้น

พิธีกรรมอีกอย่างที่ถือเป็นจุดเด่นของงานนี้ก็คือ การเสี่ยงทายกระดูกไก่ เพื่อทำนายว่า ปีนี้ทั้งปี หมู่บ้านจะมีเหตุการณ์ หรือมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยจะนำไก่มาผ่าเอากระดูกต้นขาทั้งสองข้างมาทำนายโดยผู้นำพิธีกรรมของหมู่บ้าน ผลของการทำนายกระดูกไก่ปีนี้ ผู้ใหญ่หน่อง ผู้ใหญ่บ้านห้วยปูแกง ได้บอกกับเราว่า ผลการทำนายปีนี้ หมู่บ้านห้วยปูแกง จะมีการติดต่อกับคนภายนอกมาก จะมีคนเข้ามาในชุมชนมากกว่าปีก่อน ๆ ทำให้หมู่บ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น รายได้ดี พืชผลทางการเกษตรเองก็ดีเช่นกัน

นี่ก็เป็นการจัดงานปอยต้นธี ครั้งใหญ่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีคนในชุมชน หน่วยงานภายนอก และกลุ่มชาติพันธุ์กะยันจากฝั่งเมียนมาบริเวณชายแดนมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก นอกจากจะเป็นการสืบทอดประเพณีของชุมชนแล้ว ยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาชุมชนบ้นห้วยปูแกงเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism)

นายหน่อง ผู้นำชุมชนห้วยปูแกงเล่าว่า หลังจากช่วงโควิด-19 มา 2-3ปี นี้ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เยอะเท่าแต่ก่อน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่สนใจวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงคอยาว ชนเผ่ากะยา ชุมชนพยายามออกแบบกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำให้มีความน่าสนใจ เช่น หากนักท่องเที่ยวมาพัก 1 คืน ก็จะมีพาไปไร่ ไปสวน กลับมาเรียนรู้อาหารท้องถิ่น เรียนรู้การทอผ้า แลกเปลี่ยนเรื่องวิถีวัฒนธรรมร่วมกัน มีการแสดงพื้นเมือง เต้น เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้ออกแบบกิจกรรมตามความชอบของตัวเอง โดยอาศัยต้นทุนชุมชนที่มีอยู่ พร้อมกับการต้อนรับในฐานะเจ้าบ้านที่ดี เพื่อที่จะสร้างความประทับใจให้นักท้่องเที่ยวและให้พวกเขาเป็นกระบอกเสียงไปช่วยสื่อสารต่อ

“นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก มาซื้อของก็สร้างรายได้ให้ชุมชน แต่สิ่งสำคัญที่สุดวิธีชีวิตเราต้องอนุรักษ์ไว้ ถ้าเราพัฒนาเกินไป นักท่องเที่ยวมีทั้งชอบและไม่ชอบ นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ส่วนใหญ่เขาชอบที่วิถีชีวิตดั้งเดิม แม้ว่าเราอยู่ไกลเขาก็เดินทางมา ก็เพราะว่าเราอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เราอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบดั้งเดิมอยู่”

เรื่องราว: พลากร ป่าไม้ สร้อยแก้ว คำมาลา // ภาพโดย: พลากร ป่าไม้

แชร์บทความนี้