ผู้คน ข้อมูล เทคโนโลยีแบบรวมหมู่สร้างเมืองน่าอยู่ได้อย่างไร?

เรียบเรียง : ธีรมล บัวงาม

“เมืองมันเปลี่ยนแปลงไวมาก” “เมืองนี้ไม่น่าอยู่เหมือนเดิม”

“ทำไมเมืองนี้ยังอยู่แบบเดิมเหมือนถูกสต๊าฟไว้เลย”

น่าอยู่ เป็นคำที่แสดงออกกันโต้ตอบการได้ง่าย แต่การทวนความคำกลับไปหาความหมายว่า “น่าอยู่” นั้นหมายถึงอะไร ยังต้องปรับปรุงพัฒนากันแบบไหนเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ยิ่งถ้าเราพูดหมายถึงผู้คนมากมาย หลากหลายอาศัยอยู่ในเมือง แม้เหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่การเพิ่มจำนวนผู้คนที่เข้ามามีส่วนในการกำหนดเมืองของเขามากเท่าไหร่ ย่อมหมายว่าเราเข้าใกล้เมืองน่าอยู่ของทุกคนมากเท่านั้น

“เมืองที่น่าอยู่เหรอค่ะ” ส่วยจา เยาวชนแห่งกลุ่ม Shan Youth Power ทวนคำถามก่อนบอกว่า เชียงใหม่เมืองน่าอยู่ในมุมมองของเธอคือเมืองที่เอื้อให้เด็กๆ ที่มาจาก ‘ที่อื่น’ สามารถมีความฝันที่จะเติบโตในเมืองแห่งนี้ได้ เพราะเด็กที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเธอต้องพบกับอุปสรรคทางการศึกษาจากการไม่มีสถานะบุคคล

“ขยะล้นเป็นปัญหาร่วมของทุกชุมชนครับ”

ตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce-YEC หอการค้าจังหวัดระยอง เสนอในวงแลกเปลี่ยน

หากความต้องการของผู้คนในเมือง กลายเป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถมองเห็น และแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจระหว่างกันได้ ผ่านพื้นที่หรือมีเครื่องมือที่ให้คนจำนวนมากและหลากหลายในเมืองเข้ามามีส่วนร่วมบอกว่า เมืองน่าอยู่ของเขาและคนอื่น ๆ มันมีหน้าตาแบบไหน ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะอะไรบ้าง ยิ่งหากมีฐานความรู้ ประสบการณ์ และทำให้คนได้พิจารณาว่า สิ่งที่เขาพึงประสงค์นั้นจะเกิดได้บนเงื่อนไข หรือต้องแลกหรืออาจส่งผลกระทบในด้านไหนบ้าง ก็น่าจะทำให้ความต้องการของปัจเจกบุคคลสะสมตัวเกิดการเป็นความต้องการร่วม ที่วางบนฐานของข้อมูล ความรู้ เกิดปัญญารวมหมู่ และส่งเสริมการแก้ปัญหาอะไรบางอย่างร่วมกัน นี่จึงเป็นที่มาของการก่อร่างสร้างทีมงานห้องทดลองปัญญารวมหมู่ เพื่อทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในสังคม เพื่อทำให้ทุกคนเห็นภาพที่ชัดเจน ต่อเนื่องและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงรวมถึงความต้องการของคนที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ออกแบบเมืองอย่างมีส่วนร่วมด้วยแนวคิดและเครื่องมือปัญญารวมหมู่

‘เมืองน่าอยู่’ เป็นประเด็นที่หน่วยงานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสำคัญ เพราะเมืองเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ใช้ชีวิตที่สำคัญของคน แนวโน้มของประชากรในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น การสร้างเมืองที่น่าอยู่ให้ตอบโจทย์ชีวิตของคนในเมืองแต่ละแห่งจึงมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งเศรษฐกิจและสังคม เมืองน่าอยู่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม

อย่างไรก็ตามการออกแบบเมืองแบบดั้งเดิม มักถูกควบคุมโดยนักผังเมือง สถาปนิกและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดเมืองที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม แต่การเพิ่มจำนวนคนเข้ามาร่วมอย่างเดียวก็ไม่อาจรับประกันการมีส่วนร่วมที่คุณภาพได้ ส่วนสำคัญคือการทำให้ข้อมูลมันเข้าถึงได้ เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ไหลเวียนกระจายให้กับคนต่าง ๆ ในเมือง ได้แวะเวียนมาพิจารณาทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่าง เมืองน่าอยู่ livable city ซึ่งต้องพิจารณาในมิติไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน จึงต้องมีการเลือกแง่มุมที่ดึงดูดความสนใจของคนหลายภาคส่วน ทั้งต้องย่อยง่าย ปรุงให้สนุกที่จะร่วมเรียนรู้สิ่งใหม่ และมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโจทย์ที่ทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่กำลังเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

เมืองเชียงใหม่ การมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนด้วยประชาชน พื้นที่สาธารณะที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เชียงใหม่ที่ยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจะต้องดี

เมืองสารคาม วัฒนธรรมเมืองสารคาม ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตปลอดภัย โดยนโยบายสาธารณะระดับเมือง ได้แก่ เศรษฐกิจและการศึกษาสร้างรากฐานให้กับคนสารคาม ขับเคลื่อนเมืองผ่านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ความร่วมมือของผู้คนสร้างการขับเคลื่อนเมืองมหาสารคาม

เมืองระยองสิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีแผนการป้องกันและแก้ไขภัยมลพิษ โดยนโยบายสาธารณะระดับเมือง ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อคนท้องถิ่น สุขภาวะของเมืองระยอง เริ่มจากข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนเมืองอย่างยั่งยืน การออกแบบเมืองอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

เมืองคอนปลอดภัยและคนเท่าเทียม เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณะของคนชายขอบ โดยนโยบายสาธารณะระดับเมือง ได้แก่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ทุกคนสามารถร่วมด้วยช่วยกัน การท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ใหม่เมืองคอน แก้ปัญหาของความปลอดภัย ให้คนในและคนนอกรู้สึกปลอดภัยต่อการใช้เมือง

ภาพแผนภูมิแสดงการประเมินเมืองในมิติต่าง ๆ ของโครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จากการให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปได้ร่วมให้ข้อมูล จนกลายเป็นข้อมูลตั้งต้นเพื่อชวนคนในเมืองนั้น ๆ ได้พูดคุยลงรายละเอียดกันต่อไป

เทคโนโลยีแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อข้อมูล ความเข้าใจและการเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกคน

คนชอบพูดถึงเมืองอัจฉริยะ แต่เมืองจะฉลาดได้ ก็ต่อเมื่อผู้คนของเมืองฉลาด ฉะนั้น คน ข้อมูล และเทคโนโลยีคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ยกตัวอย่าง โครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ ไทยพีบีเอส โดยโครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายและสื่อสาธารณะ จึงทำงานร่วมกัน เพื่อทดลองสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบรวมหมู่ ค้นหาข้อมูลสำคัญ ทำงานกับคนในพื้นที่ผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ ที่ขยายการมีส่วนร่วม ผ่านการสำรวจเล็ก ๆ สะสมข้อมูล ประมวล วิเคราะห์และนำเสนอเพื่อร่วมกันคิดใหม่สร้างเมืองใหม่ที่ตอบโจทย์ของทุกคน

ชวนคนในทุกเมือง เขียนชื่อเมืองของตัวเอง ร่วมกันบอกหน่อยว่าเมืองของคุณ มันน่าอยู่แบบไหน ? ควรจะพัฒนาไปทางไหนกันดี ? มาช่วยกันตั้งโจทย์ที่ใช่ และเลือกทิศทางที่เหมาะกับเมืองที่คุณอยู่ร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง จัดทำแผนของเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม

มาร่วมกันสร้างเมืองที่น่าอยู่ของคุณด้วยกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

คุยเนื้อๆ เรื่องมหาสารคามแบบน้ำไม่ต้อง : สิ่งที่เป็นและทิศทางที่เมืองตักศิลาอยากไป

เปลี่ยนเสียงคนระยอง ร่วมปั้นดัชนีสร้างเมืองให้น่าอยู่

แชร์บทความนี้