ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐที่มักพบการใช้อำนาจโดยมิชอบ การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรับสินบน การฮั้วประมูล หรือการยักยอกงบประมาณ
นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยยังทำให้การคัดเลือกบุคลากรไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวและผลประโยชน์ ส่งผลให้การบริหารงานขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ผลกระทบจากการขาดธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันส่งผลเสียต่อประเทศในหลายมิติ ในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ลดความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน และบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านสังคม ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม เนื่องจากทรัพยากรและโอกาสถูกกระจายไปยังกลุ่มผู้มีอำนาจและเครือข่ายพวกพ้อง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะงบประมาณที่ควรนำไปพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลับถูกรั่วไหลไปกับการทุจริตคอร์รัปชัน
“ธรรมาภิบาล” กับ “ต่อต้านคอร์รัปชัน” 2 สิ่งต้องทำควบคู่กัน
ธรรมาภิบาล (Good Governance) คือหลักการบริหารจัดการที่ดีที่มุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใส ความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความคุ้มค่า หลักนิติธรรม และหลักคุณธรรม โดยเป็นแนวทางในการบริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน สร้างความเป็นธรรมในสังคม และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
World Governance Indicators (WGI) เป็นชุดตัวชี้วัดที่พัฒนาโดยธนาคารโลกเพื่อประเมินคุณภาพการกำกับดูแลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยวัดใน 6 มิติหลัก ได้แก่ การมีสิทธิ์มีเสียงและความรับผิดชอบ เสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพของรัฐบาล คุณภาพของกฎระเบียบ หลักนิติธรรม และการควบคุมการทุจริต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์การบริหารจัดการของแต่ละประเทศและใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการกำกับดูแลให้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่คอร์รัปชัน คือการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ซึ่งอาจเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น การรับสินบน การยักยอกเงิน การเรียกรับผลประโยชน์ การใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การเอื้อประโยชน์ในการประมูลหรือสัมปทาน รวมถึงการใช้อิทธิพลแทรกแซงการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งการคอร์รัปชันส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ Corruption Perception Index (CPI) เป็นดัชนีที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เพื่อจัดอันดับระดับการคอร์รัปชันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้การสำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ และนักวิเคราะห์ในแต่ละประเทศ คะแนนจะอยู่ระหว่าง 0 (คอร์รัปชันสูงมาก) ถึง 100 (โปร่งใสมาก) ดัชนีนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ประเมินสถานการณ์การทุจริตและเปรียบเทียบระหว่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ดี การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เนื่องจากหลักธรรมาภิบาลที่ดีเป็นเครื่องมือสำคัญในเชิงกระบวนโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะหลักความโปร่งใสที่เน้นการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการตัดสินใจให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ หลักความรับผิดชอบที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องพร้อมรับผิดต่อการกระทำของตน และหลักการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและลดโอกาสในการทุจริตคอร์รัปชัน
ในทางกลับกัน การต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพก็จำเป็นต้องอาศัยระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งเป็นฐานรองรับ เพราะการปราบปรามทุจริตจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากขาดกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ ขาดความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบ หรือขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
ดังนั้น การพัฒนาระบบธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันจึงต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยมุ่งเน้นทั้งการสร้างระบบและกลไกที่โปร่งใสตรวจสอบได้ การพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและหลักธรรมาภิบาล
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันแบบแยกส่วนต่อกัน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักต่างหน่วยงานกันเช่นกัน ทำให้การบูรณาการทางงบประมาณ บุคลากร และเวลาในการดำเนินการมีต้นทุนสูง แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนและความพยายาม
ดังนั้น แนวทางการพัฒนาในอนาคตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ โดยผนวกการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตให้เป็นเรื่องเดียวกัน ดำเนินการไปพร้อม ๆ กันอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ เพื่อให้เกิดการเสริมแรงซึ่งกันและกัน ลดความซ้ำซ้อนของทรัพยากรที่ใช้ และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ชัดเจนต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
ข้อเสนอเชิงนโยบายสร้างธรรมมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน
การปรับปรุงตัวชี้วัดการบริหารจัดการโลก (World Governance Indicators: WGI) และดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปนโยบายแบบบูรณาการในหลายมิติ ดัชนีทั้งสองนี้วัดคุณภาพการบริหารจัดการ โดย WGI มุ่งเน้นมิติกระบวนการบริหารจัดการในภาพกว้าง ส่วน CPI เน้นวัดผลลัพธ์เรื่องการรับรู้การทุจริตโดยเฉพาะ ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับค่าดัชนีทั้งสองไปพร้อมกัน
1. การเสริมสร้างหลักนิติธรรมและความเป็นอิสระของตุลาการ
เป้าหมายคือ ปรับปรุงตัวชี้วัด “หลักนิติธรรม” (Rule of Law) ของ WGI และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนเพื่อปรับปรุงคะแนน CPI โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > จัดตั้ง ดำเนินการ และสร้างความโปร่งใสของศาลต่อต้านการทุจริต (Corruption Court) เพื่อดำเนินคดีทุจริตที่มีความสำคัญสูงอย่างโปร่งใส และให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น
- > จัดทำไฟล์บันทึกดิจิทัลทางกฎหมาย เพื่อลดโอกาสในการบิดเบือนการใช้กฎหมาย รวมถึงการบิดเบือนพยานหลักฐานต่าง ๆ โดยอาจเริ่มต้นบังคับจากกฎหมายและตั้งแต่ในปัจจุบันเป็นต้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนการผลิตไฟล์ดิจิทัลในอดีตที่อาจสูงเกินกว่าจะลงทุนได้
- > ลงทุนในการประชาสัมพันธ์กระบวนการที่ชัดเจนที่แสดงถึงการปฏิรูปตุลาการเพื่อรับประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ และให้ความเห็นร่วมกันของสังคม อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นระยะยาวที่ดีกว่าการดำเนินการในระบบปิด
2. การเสริมสร้างคุณภาพการกำกับดูแลและลดขั้นตอนที่ซับซ้อน
เป้าหมายคือ ปรับปรุง “คุณภาพการกำกับดูแล” (Regulatory Quality) ของ WGI และลดโอกาสการติดสินบนตามแนวทางของ CPI โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > ปรับปรุงขั้นตอนในการทำธุรกิจ ขอใบอนุญาต จดทะเบียน หรือสำแดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมในกฎระเบียบธุรกิจและกระบวนการออกใบอนุญาตอื่น ๆ ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยภาคธุรกิจสามารถติดตามตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการได้ด้วยตนเอง และกระบวนการต่าง ๆ มีเกณฑ์ที่ชัดเจน
- > ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อปรับปรุงการกำหนดนโยบายและความโปร่งใส รวมถึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการภาครัฐ และส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการร้องเรียน ตรวจสอบ และประเมินความเสี่ยงของการคอร์รัปชัน
- > บังคับใช้บทลงโทษที่เข้มงวดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับเงินนอกระบบ โดยเฉพาะเรื่องการติดตามเส้นทางเงิน การยึดทรัพย์ที่มีการถ่ายโอน และการดำเนินคดีข้ามประเทศ
3. การปรับปรุงความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
เป้าหมายคือ ปรับปรุงตัวชี้วัด “การควบคุมการทุจริต” (Control of Corruption) ของ WGI และการรับรู้ความตรงไปตรงมาในการใช้จ่ายภาครัฐของ CPI โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > บังคับใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-procurement) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีการตรวจสอบลึกลงไปกว่าแค่ชื่อบริษัท แต่รวมถึงชื่อเจ้าของกิจการ หรือระยะเวลาที่บริษัทดำเนินการมาก่อน รวมถึงมีการใช้ AI ประเมินผลความเสี่ยง เช่น บางบริษัทหรือเจ้าของบางรายอาจมีการยื่นข้อเสนอมาคู่กับอีกบริษัทเสมอในทุกครั้ง หรือมีการสลับกันยื่นสลับกันได้โครงการ เป็นต้น
- > กำหนดให้เปิดเผยสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและผลการตรวจสอบต่อสาธารณะตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการ ไปจนถึงการติดตามโครงการ รวมถึงการซ่อมแซมที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง นอกจากนี้ ยังควรเก็บข้อมูล ประมวลผล และแสดงผลในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและดึงดูดความสนใจของประชาชน
- > มอบหมายหน้าที่ในการติดตามโอกาสในการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐให้กับหน่วยงานกำกับดูแลอิสระ หรือคณะทำงานอิสระ เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบโดยตรง และประชาสัมพันธ์หน่วยงานหรือคณะกรรมการเหล่านี้ให้กับสาธารณะรับทราบด้วย
4. การเสริมพลังภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
เป้าหมายคือ เพิ่มคะแนน “การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ” (Voice and Accountability) ของ WGI และการรับรู้ของ CPI โดยลดอุปสรรคในการตรวจสอบ โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (whistleblowers) และนักข่าวสืบสวนให้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริงมากขึ้น นอกจากนี้ หากเป็นหลักฐานนิรนามหรือบัตรสนเท่ห์ ให้เน้นการตรวจสอบเอกสารมากกว่าการตามหาตัวผู้ร้องเรียน
- > อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะภายใต้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยปรับปรุงให้เป็นพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของสาธารณะ และกำหนดให้หน้าที่ในการได้รับข้อมูลของประชาชนเป็นฐาน แต่หากไม่ส่งข้อมูลต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการในการแจ้งต่อประชาชนและสาธารณะ
- > สนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนในการติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการและคดีทุจริต โดยอาจมีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน และเปิดโอกาสให้เป็นหน่วยงานที่สามารถรับส่วนแบ่งจากการบริจาคเงินภาษีของประชาชนได้
5. การศึกษาต่อต้านการทุจริตและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
เป้าหมายคือ ปรับปรุงทัศนคติของสังคมต่อการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อทั้ง WGI และ CPI โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > บูรณาการหลักสูตรจริยธรรมและการต่อต้านการทุจริตที่เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ และเน้นประโยชน์สาธารณะที่เป็นรูปธรรม มากไปกว่าการเน้นไปที่คุณธรรมและความเป็นคนดี เข้าในระบบการศึกษา รวมถึงเพิ่มประเด็นความท้าทายและความขัดแย้งของจริยธรรมให้เกิดการถกเถียงเข้าไปในเนื้อหาด้วย
- > ส่งเสริมการทำงานวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในทางบวกจากการส่งเสริมธรรมาภิบาล เช่น ต้นทุนการดำเนินการของระบบราชการลดลง หรือการได้คนที่มีความสามารถเป็นผู้บริหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจในทางลบจากการจากการคอร์รัปชัน เช่น การรั่วไหลของภาษี หรือคุณภาพของการรักษาพยาบาลที่ลดลง ทุจริต เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนแต่ละคนอันจะนำไปสู่ความตระหนักที่มากขึ้น
- > สนับสนุนให้ประชาชนรายงานความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ รวมถึงการคอร์รัปชันผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย เพื่อให้ภาครัฐทราบข้อมูลอย่างแท้จริง และนำไปสู่ความเชื่อมั่นในภาครัฐที่มากขึ้นในอนาคต
6. การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของมนุษย์
เป้าหมายคือ ลดโอกาสการทุจริตและปรับปรุง “การควบคุมการทุจริต” ของ WGI ส่งผลให้ค่า CPI ในภาพรวมสูงขึ้น โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > เร่งศึกษาการนำบล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในธุรกรรมการเงิน และการดำเนินเอกสารของรัฐ เนื่องจากบล็อกเชนจะสร้างความโปร่งใส แก้ไขย้อนหลังได้ยาก และเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดทางการเงินและเอกสารทุกครั้ง
- > ใช้การวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจจับการทุจริตในการเงินภาครัฐ โดยเฉพาะการกำหนด red flag ของโครงการที่มีความเสี่ยง เนื่องจากปัจจุบัน โครงการภาครัฐมีจำนวนมากจนยากที่จะตรวจสอบทั้งหมดได้ รวมทั้งหากมีการนำ AI มาใช้ดำเนินการนานขึ้น AI ก็มีแนวโน้มจะตรวจสอบได้แม่นยำขึ้นด้วย
- > ขยายระบบ e-government ในการติดต่อภาครัฐ เพื่อลดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ให้ครอบคลุมขึ้น เช่น การยื่นภาษีและชำระเงินออนไลน์ การยื่นขอเอกสารต่าง ๆ หรือการรายงานผลการปฏิบัติการ เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่รัฐในการเก็บและค้นหาเอกสาร และต้นทุนการเดินทางและเวลาของประชาชน รวมถึงยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ไปในตัวด้วย
7. ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก
เป้าหมายคือ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีระดับสากล ทั้งในด้านธรรมาภิบาล และการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > เข้าร่วม และให้สัตยาบันและดำเนินการตามอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติและอาเซียนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเผยแพร่สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วอย่างสม่ำเสมอในระดับสากล
- > ร่วมมือกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) และธนาคารโลกเพื่อรับการสนับสนุนทางเทคนิคและแนวทางที่เป็นรูปธรรม
- > รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการ และผลการปฏิบัติการ ทั้งการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการคอร์รัปชันบนเวทีระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ
8. การติดตามความคืบหน้าด้วยตัวชี้วัดผลงานและการวิเคราะห์ข้อมูล
เป้าหมายคือ วัดระดับ และกำกับดูแลการดำเนินการ และการปรับปรุงแนวทางการดำเนินการตาม WGI และ CPI โดยนโยบายที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- > กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPIs) สำหรับโครงการการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการคอร์รัปชันตามแนวทางสากล และมีการวัดระดับ รวมถึงนำเสนอผลการปฏิบัติการอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้
- > เผยแพร่รายงานความคืบหน้าประจำปี พร้อมนำเสนอข้อมูลแนวทางการปฏิรูปการกำกับดูแลในระยะถัดไปให้กับสาธารณะ ทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล
- > ทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะความสนใจ และความเต็มใจของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การดำเนินนโยบายบูรณาการเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ในด้านเศรษฐกิจ การลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ระบบจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสจะช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐและได้สินค้าบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
ในด้านสังคม การเสริมสร้างหลักนิติธรรมและความเป็นอิสระของตุลาการจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่การเสริมพลังภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการทุจริตผ่านระบบการศึกษาจะช่วยสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสในระยะยาว
ส่วนในด้านการบริหารจัดการภาครัฐ การใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนและ AI จะช่วยลดการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับการทุจริต นอกจากนี้ ความร่วมมือระดับสากลและระบบการติดตามประเมินผลที่เข้มแข็งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนี WGI และ CPI มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวอย่างแน่นอน
ผู้เขียน : ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียง : อรกช สุขสวัสดิ์