ศาลฯ ตัดสิน! โรงงานทิ้งกากอุตสาหกรรม จ่าย 2,265 ล้านบาท ฟื้นฟูอ่างน้ำโจน 16

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) รายงาน ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สวพ. 1/2566 ที่กรมควบคุมมลพิษที่ 1 กับพวก รวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 3 คน ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,855 ล้านบาท ฐานทำให้อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ปนเปื้อนสารพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์ เป็นภาพอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 เมื่อปี 2562 ในช่วงแรกที่พบปัญหา

อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 หรือ อ่างยายแจ๋ว  ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีความจุเกือบ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เคยเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนกว่า 50 ครัวเรือน

โดยในการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ ศาลฯ ได้ชี้ชัดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ฝ่ายโจทก์พิสูจน์แล้วว่า การปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในอ่างเก็บน้ำดังกล่าว พบค่าความเป็นกรดสูง และค่าโลหะหนักเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน ประเภทที่ 3 ได้แก่ ทองแดง แมงกานีส ตะกั่ว สังกะสี จนไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งสารโลหะหนักดังกล่าวมีความสัมพันธ์โดยตรงและสอดคล้องกับสารเคมีที่เกิดจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ซึ่งเมื่อเทียบผลการตรวจคุณภาพน้ำกับบริษัทอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก็ไม่พบว่ามีโรงงานใดที่มีสารดังกล่าวสอดคล้องกับที่ตรวจพบในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16

อีกทั้งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจพบร่องรอยการรั่วไหลของน้ำจากโรงงานของบริษัทฯ ที่ซึมผ่านชั้นน้ำใต้ดินไปยังทิศทางของอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ด้วย 

จึงกล่าวได้ว่า บริษัทฯ หรือจำเลย เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,770 ล้านบาท ในการฟื้นฟูน้ำใต้ดินและอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยต้องชดใช้ให้กับโจทก์ทั้ง 4 รายดังนี้

  • โจทก์ที่ 1 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จำนวน 851 ล้านบาท
  • โจทก์ที่ 2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) จำนวน 553 ล้านบาท
  • โจทก์ที่ 3 กรมชลประทาน (ชป.) จำนวน  365 ล้านบาท
  • โจทก์ที่ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สป.ทส.) จำนวน 4 แสนบาท

นอกจากมีบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ยังมีนายเชียว วัง แลม เบนจา มิน เป็นจำเลยที่ 2 และนายเจ้า เชา หลิน เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งทั้งสองคนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท

ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับจ้างผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อการอุตสาหกรรมโมลีดินัม และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการผลิต Molybdenum Oxide และ Ferrous molybdenum โดยแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงาน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 มีเงื่อนไขการอนุญาต ให้ประกอบกิจการโรงงาน และการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ลำดับที่ 2 ข้อ 1.1 คือ “ต้องระบายน้ำทิ้งทั้งหมดของโรงงาน ลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของบริษัท ๓๐๔ อินดัสเตรียล ปาร์ค ๒ จำกัด ทะเบียนโรงงานเลขที่ ๓-๑๐๑-๒/๓๙ ฉช โดยให้ถือเสมือนว่าเป็นระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานเอง”

อย่างไรก็ตาม จากผลการตรวจสอบของโจทก์ พบว่า ในช่วงแรกของการประกอบกิจการ โรงงานของจำเลยที่ 1 มีการนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ส่งกำจัดโดยบริษัทเอกชนทั้งหมด มิได้ส่งเข้าระบบบำบัดรวมแต่อย่างใด และประมาณปี 2560 โรงงานมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบเติมเคมี และมีการนำน้ำจากการรีดตะกอนเข้าสู่บ่อพักน้ำ เพื่อนำกลับไปใช้ในกระบวนการล้างคัดแยกใหม่ โดยไม่มีการระบายน้ำออกสู่ภายนอก แต่จากการตรวจสอบพบมีท่อระบายน้ำอยู่ใต้ดินโดยรอบพื้นที่โรงงานฯ ที่ไม่สามารถระบุทิศทางการไหลและประเภทของน้ำที่อยู่ภายในท่อระบายน้ำดังกล่าวได้ชัดเจน และพบมีการระบายน้ำทิ้งออกสู่รางระบายน้ำด้านหน้าโรงงานด้วย

นอกจากนั้น หน่วยงานที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ยังมีการตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ อีกหลายส่วน กระทั่งสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปล่อยน้ำเสียที่มีสารปนเปื้อนให้แพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดิน ผ่านชั้นน้ำใต้ดิน และไหลลงสู่อ่างฯ 16 จากบริเวณด้านหลังและด้านข้างของโรงงาน จนส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน ดิน และน้ำในอ่าง ได้รับความเสียหาย มีค่าความเป็นกรดสูง (pH 2.5-3.5) ปนเปื้อนด้วยโลหะหลายชนิด และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้


อ่านเนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

แชร์บทความนี้