สังคมจะร่วมสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพ สำหรับแรงงานทุกคนกันอย่างไร ?

การย้ายถิ่นเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เมืองที่ดึงดูดแรงงานย้ายถิ่นจำนวนมากเป็นพื้นที่ของความท้าทายด้านสุขภาพ ในการรับมือจากโรคระบาดติดเชื้อ เนื่องจากที่อยู่อาศัยแออัด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเนื่องจากวิถีชีวิตในเมืองที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเนื่องจากความเสี่ยงในการทำงาน ประเทศไทยเคยเป็นประเทศต้นทางส่งออกแรงงานไปประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสูงกว่า และปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จนเป็นที่ทราบกันดีว่า แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่ม CMLV คือฟันเฟืองของเศรษฐกิจไทย

ตัวเลขแรงงานเพื่อนบ้านหรือที่ภาษาราชการใช้คำว่า “แรงงานต่างด้าว” ที่ขึ้นทะเบียนในระบบที่คงเหลืออยู่ในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 3.3 ล้านคน กระจายตัวอยู่ทั่วทุกจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ซึ่งยังมีแรงงานเพื่อนบ้านที่ไม่อยู่ในระบบหรือหล่นหายไปจากตัวเลขทางการอีกมาก และเมื่อรวมกับผู้ติดตามบุตรหลาน ครอบครัว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีเอกสารถูกต้อง แรงงานที่เข้ามาทำงานผ่านการทำ MOU และกลุ่มที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ก็สามารถเรียกได้เป็นประชากรข้ามชาติ

จากการประเมินผลของแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา พบความท้าทายหลายด้าน อาทิ 1.ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งที่มาจากประชากรข้ามชาติเองและจากผู้ให้บริการ, ภาษา, วัฒนธรรม 2. ปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดการของภาครัฐที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ 3. การขาดความเชื่อมโยงของฐานข้อมูลประชากรข้ามชาติอย่างบูรณาการ ดังนั้นการดำเนินงานเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้ ยังเป็นโจทย์ท้าทายความร่วมมือและการตัดสินใจเชิงนโยบายและการออกแบบการจัดการสุขภาพ สุขภาวะของแรงงานเพื่อนบ้านในเชิงพื้นที่ เพื่อให้ประชากรข้ามชาติที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี มีพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

ช่วยกันคิด ระบบการดูแลสุขภาพแรงงาน-ประชากรข้ามชาติ

ทีมงานห้องทดลองปัญญารวมหมู่ ชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมออกแบบระบบสุขภาพของแรงงานเพื่อนบ้านและช่วยกันออกแบบเมืองหรือพื้นที่ของทุกท่านว่าควรจะจัดการดูแลประชากรข้ามชาติในพื้นที่ของตัวเองอย่างไร ? ด้วยการตอบที่แบบสำรวจหรือคลิกปุ่มด้านล่าง

เรียบเรียง: ธีรมล บัวงาม
อินกราฟิก: วิศรุต แสนคำ

แชร์บทความนี้