‘ปักษ์ใต้’ Remix: จังหวะใหม่ของ ‘ทุนวัฒนธรรม’ ในวันที่โลกเปลี่ยน

“ทุนทางวัฒนธรรม” คือทรัพย์สินและมรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่าและมูลค่า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิญญาณ ที่ได้มีการสั่งสมและสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ ทั้งวัตถุสิ่งของ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา ความรู้ ความเชื่อ และค่านิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถถูกนำไปแปลงเป็นพลังสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้ยุค “Soft Power” ที่กำลังถูกผลักดันในระดับนโยบายอย่างเข้มข้น

สำหรับ “ภาคใต้” ของประเทศไทย นอกจากจะเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว ยังเป็นภูมิภาคที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นคาบสมุทร มีทะเลขนาบสองฟากฝั่ง และเทือกเขาทอดยาว ทำให้ภาคใต้มีภูมินิเวศที่หลากหลาย ทั้งเขา ป่า นา เล รวมถึงผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา ส่งผลให้วัฒนธรรมในพื้นที่มีความลุ่มลึกและรุ่มรวย ทั้งในรูปแบบที่สืบทอดมาแต่เดิม และในรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการต่อยอดของนักสร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน ในช่วงปีที่ผ่านมา บรรยากาศงานสร้างสรรค์และกิจกรรมอีเวนต์ทางวัฒนธรรมของภาคใต้คึกคักอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาผสานพลังกับชุมชนท้องถิ่น เกิดการรวมตัวของผู้คนจากหลากหลายเจเนอเรชัน ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นพี่ และครูภูมิปัญญา เพื่อออกแบบ “จังหวะใหม่” ให้กับทุนวัฒนธรรม โดยยังรักษารากเหง้าและอัตลักษณ์เดิมไว้

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการ “แลต๊ะแลใต้” ได้ร่วมลงพื้นที่จัดกระบวนการและถ่ายทอดสดออนไลน์ รายการ ฟังเสียงประเทศไทย ตอน “Roots & Remix: มองทุนวัฒนธรรมจังหวะใหม่ของปักษ์ใต้” ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สมัชชา นิลปัทม์ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณพนิดา ฐปนางกูร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา, คุณราชิต ระเด่นอาหมัด ผู้ก่อตั้งกลุ่มมลายูลีฟวิ่ง, คุณอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินรุ่นใหม่ชายแดนใต้และอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และคุณทิวากร แก้วบุญสง ศิลปินเพลงใต้ ซึ่งต่างร่วมกันมองหา “จังหวะใหม่” ของทุนวัฒนธรรมปักษ์ใต้ ผ่านการรีมิกซ์ความคิดสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่ไม่ทิ้งรากเหง้า พร้อมกับตั้งคำถามใหม่ว่า “เราจะสร้าง ‘จังหวะใหม่’ ให้กับทุนวัฒนธรรมอย่างไร โดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณของท้องถิ่นไปเสียก่อน?” 

ผู้ที่เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงนี้ ส่วนใหญ่ ภาพที่พวกเขาอยากเห็น และอยากให้เป็นในวันข้างหน้า คือ ฉากทัศน์ที่ 3 – ปักษ์ใต้ Go Global หมายถึงวัฒนธรรมใต้ที่ดังไกลไปทั่วโลก โดยที่รากเหง้ายังคงแข็งแรง วัฒนธรรมใต้สามารถปรับตัว และเชื่อมโยงเป็นสะพานไปสู่สากลได้ โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง

นอกจากนี้ เพื่อสานต่อบทสนทนาและมุมมองจากพื้นที่สู่เวทีสาธารณะ รายการ ฟังเสียงประเทศไทย ยังได้บันทึกเทปประเด็นเดียวกันในตอน“ทุนวัฒนธรรมจังหวะใหม่ของปักษ์ใต้” ซึ่งจะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2558 เวลา 17:30–18:00 น. ทางไทยพีบีเอส ที่ยังคงสานต่อบทสนทนาเดิมโดยขยายมุมมองผ่านตัวแทนจากหลากหลายวงการ โดยมีคุณรัชนก สังข์งาม เจ้าของแบรนด์ Darcy the Designs, คุณสุไลมาน เจ๊ะแม นักกิจกรรมด้านวัฒนธรรมมลายูและผู้จัดกิจกรรมบาลาเทรล, คุณอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, คุณวัจนันท์ ศิลปวรณ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงคุณพนิดา และคุณอนุวัฒน์ ที่กลับมาร่วมแลกเปลี่ยนอีกครั้ง

การสนทนาในครั้งนี้ย้ำให้เห็นว่า ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของภาคใต้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของอดีต แต่เป็น “ขุมทรัพย์ที่มีชีวิต” ที่สามารถกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนเมือง สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเสริมสร้างความยั่งยืน โดยไม่ละทิ้งจิตวิญญาณท้องถิ่นและตัวตนเดิมที่สั่งสมมา งานออกแบบ อาหาร ภูมิปัญญา มหรสพ รวมถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ถูกนำมาต่อยอดในบริบทสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์ บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านเปิดใจรับฟังการถ่ายทอดเสียงของผู้คนจากหลากหลายแวดวง ผ่านเรื่องราวของการรีมิกซ์ทุนวัฒนธรรมใต้ให้เป็นพลังสร้างอนาคต ด้วยความเคารพต่อรากเหง้า และจังหวะของพวกเขาเองในโลกที่เปลี่ยนไป

Designs ความเป็น ‘ท้องถิ่น’ ให้อยู่ใน ‘ลมหายใจ’ คนรุ่นใหม่

รัชนก สังข์งาม เจ้าของแบรนด์ Darcy the Designs จากพัทลุง เล่าเรื่องการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นอย่าง “มโนราห์” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มาร้อยเรียงลงในงานออกแบบลวดลายผ้าอย่างประณีต ความท้าทายไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ หากแต่คือการ “ทำให้มีชีวิตอยู่” ผ่านการปรับความคิดของคนในท้องถิ่นให้เห็นว่ามโนราห์ไม่ควรเป็นเพียงมรดกทางใจ แต่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับแฟชั่น ศิลปะ และการสร้างอาชีพในชุมชนได้

แนวทางของเธอไม่เพียงแต่นำศิลปะพื้นบ้านมาประยุกต์เป็นแฟชั่นร่วมสมัย แต่ยังเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจชุมชนอย่างแท้จริง โดยใช้แรงงานจากช่างฝีมือในท้องถิ่น และมองเห็นเป้าหมายว่าผู้หญิงช่างเย็บในเงามืดเหล่านี้ควรได้รับการยกย่องในฐานะ “ศิลปินระดับชาติ”

“เราต้องการให้ ‘ช่างในเงามืด’ กลายเป็นศิลปินระดับชาติ” เธอกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า ทุนทางวัฒนธรรมจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อถูกนำเสนอด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อขายเพียงอย่างเดียว

Soft Power ต้องไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของสินค้า

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินรุ่นใหม่ชายแดนใต้และอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองการพัฒนา Soft Power อย่างมีวิจารณญาณ เขาชี้ว่า แม้ทุกคนจะพูดถึงศักยภาพและความเป็นได้ในขีดความสามารถของวัฒนธรรมปักษ์ใต้ในการกลายเป็น Soft Power แต่คำถามที่แท้จริงคือ “เราเข้าใจสิ่งที่เราทำอยู่แค่ไหน?”

เขาเสนอแนวคิดที่ท้าทายต่อความเข้าใจเรื่อง Soft Power ในกระแสหลัก โดยย้ำเตือนว่า หากเรามองทุนวัฒนธรรมเพียงเพื่อแปรรูปเป็น “ผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ” โดยปราศจากความเข้าใจในจิตวิญญาณของวัฒนธรรมนั้น ๆ เราอาจสูญเสีย “ความหมาย” อันลึกซึ้งไป หากแต่ควรเริ่มจากการเคารพ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” ของชุมชน โดยเฉพาะสิทธิในการกำหนดทิศทางของวัฒนธรรมโดยชุมชนเป็นผู้กำหนดเอง

“เราต้องรักษารากเหง้าไว้ให้ได้ ก่อนจะนำไปต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เขากล่าวอย่างหนักแน่น

ท่ามกลางกระแสในบริบทที่รัฐหรือภาคธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทในการนิยามสิ่งใดควรค่าแก่การส่งเสริม วัฒนธรรมจึงไม่ควรถูกกำหนดด้วยกลไกตลาดเพียงลำพัง เพราะการผูกวัฒนธรรมเข้ากับกลไกตลาดโดยตรง อาจกลายเป็นการกลืนกินคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่

Bala Trail Running: เส้นทางวิ่งสู่หัวใจวัฒนธรรมชายแดนใต้

อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่โดดเด่นของการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมให้มีชีวิต คือกิจกรรม “Bala Trail Running” สุไลมาน เจ๊ะแม นักกิจกรรมวัฒนธรรมชายแดนใต้จากนราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มกิจกรรมวิ่งเทรลในพื้นที่อำเภอสุคิรินที่เขาขับเคลื่อนต่อเนื่องกว่า 3-4 ปี ไม่ได้เป็นเพียงงานกีฬาท่องเที่ยวธรรมดา หากแต่เป็นเวทีเปิดพื้นที่ให้คนต่างถิ่นเข้ามาสัมผัสธรรมชาติ วัฒนธรรม บรรยากาศ และวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้

เขาเล่าว่างานวิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อสุขภาพ แต่เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างผู้คนกับภูมิประเทศ วิถีชุมชน และเรื่องเล่าในป่าเขา

“เรารู้สึกว่างานนี้มีความ ‘ออร์แกนิก’ สูงมาก เพราะมันไม่ได้เกิดจากอีเวนต์ใหญ่ แต่เกิดจากความภูมิใจของคนในพื้นที่ ที่อยากเล่าเรื่องของบ้านตัวเองผ่านเส้นทางวิ่ง”

สิ่งที่ทำให้ “บาลาเทรล” แตกต่าง คือจุดเริ่มต้นที่เกิดจากพลังของชุมชนล้วน ๆ ไม่ได้พึ่งพาโครงสร้างจากส่วนกลางมากนัก แต่กลับสามารถสร้างแรงดึงดูดและความภาคภูมิใจให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างน่าทึ่ง กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนโควิดจนถึงปัจจุบัน โดยทุกครั้งจะมีนักวิ่งจากภายนอกมาเรียนรู้และสัมผัสเสน่ห์ของธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนในสื่อกระแสหลัก

ทุนทางวัฒนธรรมจึงไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง แต่เป็นของ “เรา” เสียงที่ปรากฏเหล่านี้ล้วนสะท้อนจุดร่วมของผู้คนที่หลากหลาย ว่าการผลักดันวัฒนธรรมปักษ์ใต้ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องไม่ทำลายความหมายเดิม ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ศิลปิน หรือชุมชนผู้จัดกิจกรรม ทุกเสียงล้วนตอกย้ำว่า การสืบสานต้องมาคู่กับการสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ต้องมาจากภายใน ไม่ใช่แค่เพื่อโชว์เฉพาะเพียงเปลือกภายนอกอย่างฉาบฉวย เพราะทุนวัฒนธรรมไม่ได้มีใครถือลิขสิทธิ์มีความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่รัฐหรือภาคธุรกิจจะเข้าไปใช้โดยไร้กรอบ แต่คือสมบัติร่วมที่คนในชุมชนควรเป็นผู้กำหนดจังหวะใหม่ร่วมกันด้วยตนเอง

แชร์บทความนี้