“เราไม่รู้ว่าการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทอะไรในชีวิตเรานะ แต่ว่าเราตื่นมาเรามีอากาศสะอาด มีถนนใช้ มีน้ำประปาที่สะอาดใช้ หรือแม้กระทั่งเราไม่มีปัญหาเรื่องขยะ เหล่านี้เป็นบทบาทของท้องถิ่นด้วยไหมนะ เรารู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมกับการเมืองท้องถิ่นแค่ช่วงของการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ส่วนร่วมกับท้องถิ่นมากเท่าไหร่ ยังไม่ค่อยเห็นบทบาทของท้องถิ่นด้วย”
ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล
พูดถึงที่สุดของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดเดียวใน 47 จังหวัด ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. มากที่สุดถึง 9 คน ขณะที่ผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) สงขลา มายื่นใบสมัคร จำนวน 186 คน คุณสมบัติผ่าน 178 คน โดย 8 คนที่หายไป เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติ คือไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และอีก 1 คนอายุไม่ครบ 25 ปีบริบูรณ์ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคึกคักและการตื่นตัวทางการเมืองท้องถิ่นของคนสงขลา
ที่ผ่านมาทางเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณและไทยพีบีเอส ได้กิจกรรมประชันวิสัยทัศน์ ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา พร้อมเชิญชวนผู้คนในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังนโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดสงขลาของผู้สมัครแต่ละท่าน ที่หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยก่อนเริ่มเวทีได้มีกิจกรรมระดมไอเดีย ส่งเสียงสะท้อนความต้องการจากภาคประชาชนถึงผู้บริหารท้องถิ่นสมัยหน้า จากทีมปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ
การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน, สาธารณสุข และอุตสาหกรรมและการโยธา คือ 3 เรื่องเร่งด่วนที่คนสงขลาอยากให้ ‘ท้องถิ่น’ แก้ปัญหา แม้ว่าปีที่ผ่านมางบประมาณ 1 ใน 3 ของอบจ. สงขลา ถูกนำไปใช้ในเรื่องของอุตสาหกรรมและการโยธามากที่สุด (530.6 ล้านบาท) และสาธารณสุขอีก 149.7 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณจำนวน 17.5 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งชุมชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้กำลังสอดคล้องกับเสียงของคนเช้าร่วมเวทีในวันนั้นเช่นกัน
คณิน วิบูลย์พันธ์
“ถ้าพูดถึงการเมืองท้องถิ่น อบจ.เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว มีความใกล้ชิดการเป็นอยู่ของประชาชนมากที่สุด ปัญหาเรื่องการอุปโภคหรือปัญหาด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง ส่วนเรื่องเร่งด่วนในจังหวัดสงขลาเป็นเรื่องถนน เพราะมีจุดที่ชำรุดอยู่หลายจุด”
คณิน วิบูลย์พันธ์ ทนายความชาวสงขลา
คณิน วิบูลย์พันธ์ มองว่าการสร้างทางคมนาคมที่ปลอดภัยยังเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้ ขณะที่ปฏิมา เหมาะชาติ นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ มองคล้ายเรื่องนี้เหมือนกัน
ปฏิมา เหมาะชาติ
“ถ้าแบบเร่งด่วนเลยนะ ผมว่าเรื่องการคมนาคมกับเรื่องถนนนี่แหละ ถนนค่อนข้างแย่ ยิ่งแบบบางพื้นที่เวลาฝนตกมีโคลนหนักเลย แล้วภาคใต้ฝนตกหนักมาก แล้วสงขลาเราอยู่ติดทะเล เรื่องขยะจากแหล่งท่องเที่ยวก็เป็นอีกเรื่อง แบบบางคนที่มาเที่ยวก็ทิ้งขยะไว้ หรือบางที่ถังขยะก็น้อยไป”
“ถ้าใครชนะผมก็อยากให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำให้ประชาชน ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้มันคิดแค่นั้นพอ เอาจริงสงขลาที่สวย ๆ เยอะ ที่ดี ๆ เยอะมาก แต่นั้นแหละด้วยความที่ว่าการคมนาคมมันค่อนข้างแย่ ถนนไม่ค่อยดี จะไปไหนมาไหนยาก แล้วบางทีแอยากไปเที่ยวทะเลก็เจอขยะ มันก็ไม่น่ามองเท่าไหร่”
ปฏิมา เหมาะชาติ นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ
พูดถึงจังหวัดสงขลา ภาพแหลมสมิหลาหรือรูปปั้นนางเงือก น่าจะเป็นซีนจดจำของใครหลาย ๆ คน ทั้งเรื่องเล่าของยุคสมัยและการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของเมืองที่ติดชายทะเลอ่าวไทย มีชายหาดและป่าสนให้ได้ไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจกัน แต่ถ้าเราคุยเรื่องเหล่านี้กับคนสงขลา ภาพที่หลายคนคุ้นชินในปัจจุบันคือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการสร้างขณะต่อวันเยอะมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติจังหวัดสงขลา ระบุว่าปริมาณขยะมูลฝอย ปี 2564 มีทั้งหมด 590,935 ตัน/ปี
“เรื่องขยะนี่สังเกตดูว่าได้จากเวลาที่เรามีงานกิจกรรมที่ไหน ขยะมักจะเต็มตลอดเลย แล้วก็การกำจัดขยะนี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากอยากให้ทำแบบยั่งยืน ที่ผ่านมา อบจ.ทุกสมัยที่เข้ามา ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาจะตั้งเป็นโรงงานกำจัดขยะเนี่ยอย่างสมบูรณ์แบบรึเปล่า เพราะที่ผ่านมาขยะยังเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วก็จิตใต้สำนึกของคนด้วยที่ไม่ได้ช่วยกันรักษาความสะอาด”
เพ็ญประภา แปลกบูรณะพงศ์ ชาวจังหวัดสงขลา พูดถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้
เพ็ญประภา แปลกบูรณะพงศ์
นอกจาก 3 เรื่องเร่งด่วนที่มีเสียงสะท้อนจากหลายคนแล้วยังมีประเด็นการส่งเสริมการศึกษา ที่หลายคนมองว่า อบจ. สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องนี้ได้
“เรามองว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะว่าในปัจจุบันมีนักเรียนหรือว่าเด็กหลายคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยครอบครัวที่อาจจะมีปัญหาเรื่องเงินหรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ถ้าการเมืองดีขึ้นควรจะมีการสนับสนุนการศึกษาให้ดีขึ้น”
ธิมากร ศีลบุตร นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ด้านคณิน วิบูลย์พันธ์ มองว่าการส่งเสริมทักษะเฉพาะทางในโรงเรียนสังกัด อบจ. หรือศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่น เพื่อรักษารากเหง้าของประเทศไว้
“อยากให้ส่งเสริมการศึกษาที่นอกเหนือจากการมีโรงเรียนกีฬา ก็อยากให้ส่งสเริมในด้านอื่น ๆ อีกอย่างนาฏศิลป์ เพราะว่านาฏศิลป์จะเป็นหน้าตา เป็นวัฒนธรรมรากเหง้าของประเทศ จะเชิดหน้าชูตาให้กับท้องถิ่นนั้น ๆ ได้”
คณิน วิบูลย์พันธ์
ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล
ขณะที่ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ มองว่าการสร้างงานเพื่อรองรับบัณฑิตจบใหม่เพื่อให้สามารถทำงานอยู่ที่บ้านเกิดได้เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
“เรามีปัญหาอย่างหนึ่ง แต่เราไม่รู้ว่ามันเร่งด่วนสำหรับเขา(อบจ.)ไหม อย่างเรื่องมหาวิทยาลัยหรือว่าโรงเรียนในหาดใหญ่เยอะมาก สถาบันการศึกษาเยอะมาก แต่พอเรียนจบแล้วเหมือนเพื่อนเราหลาย ๆ คน ต้องไปทำงานต่างพื้นที่ เราคาดหวังให้ อบจ. สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้เยาวชน หรือว่าให้คนได้กลับมาทำงานที่บ้านตัวเอง คนที่อยากทำงานที่บ้านก็ได้ทำงานที่บ้าน แบบไม่จำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐาน”
“เราคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ แค่ขั้นพื้นฐานของเราคืออยากเห็น open data ของอบจ. เราอยากรู้ว่างบประมาณไปลงส่วนไหนบ้าง แล้วนโยบายอะไรที่เขาอยากขับเคลื่อนต่อ อยากติดตามตรงนั้นด้วย เพราะว่าอาจจะมีส่วนไหนที่เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับนโยบายของ อบจ. ได้ รู้สึกอยากมีส่วนร่วมกับ อบจ. กับท้องถิ่นมากกว่านี้”
ร่วมกำหนดอนาคตของท้องถิ่นได้
- สัมภาษณ์โดย นิสิตสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
- บรรณาธิการโดย แลต๊ะแลใต้