เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ดินแดนเนื้อหอมที่เพียบพร้อมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ กว่า 30 ปี ของการพัฒนา จากจุดเริ่มต้นโครงการ Eastern Seaboard มาเป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC (Eastern Economic Corridor) ที่ภาครัฐทุ่มงบประมาณกว่าล้านล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา พร้อมผลักดันการพัฒนาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการลงทุน สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ
โครงการดังกล่าว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่อย่างมาก โรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวแพร่กระจายเป็นจำนวนมากในพื้นที่ 3 จังหวัด ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานอย่างเนืองแน่น แต่ในทางกลับกัน สาธารณูปโภค ถนนหนทาง รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ไม่ได้ถูกพัฒนาควบคู่กัน ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง ทั้งจากปัญหาเดิม และปัญหาใหม่ จนนำไปสู่การตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต ถึงอนาคตของพวกเขา ท่ามกลางข้อท้าทายจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เข้ามา
ฟังเสียงประเทศไทยจึงเดินทางไปฟังเสียงของคนในพื้นที่ EEC ทั้งคนรุ่นใหม่ นิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เราชวนพวกเขามองภาพอนาคต Where we belong – ภาคตะวันออกที่เราอยากอยู่ เป็นแบบไหน เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
— ขอ 3 คำ ภาคตะวันออกที่เราอยากอยู่ —
นี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนที่คนในพื้นที่เล่าให้ฟัง ว่าภาคตะวันออกแบบที่พวกเขาอยากอยู่เป็นแบบไหน
มานพ สนิท เครือข่ายชายฝั่งบูรพา 5 จังหวัดภาคตะวันออก – ความสุขในมิติของภาคอุตสาหกรรมพัฒนาแบบก้าวไปไกล แต่คุณภาพชีวิตของคนภาคตะวันออกยังไม่ดีขึ้น อาจต้องทบทวนการพัฒนาใหม่ ความสุขของภาคตะวันออกควรย้อนมาดูกับคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตและทรัพยากรของชุมชนต้องดีขึ้นไปด้วย
ภาราดร ชนะสุนทร กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดินระยอง – ความสุขจริง ๆ แล้วต้องอยู่ร่วมกันได้ทุกภาคส่วน เกิดความเห็นพ้องต้องกัน คุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยและสามารถอยู่ได้ด้วยความสุขของตัวเอง ไม่ติดหนี้สิน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บจากสังคมนั้น ๆ
พันธกานต์ ดีเรือก นิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยบูรพา-เขามองว่าเชิงนโยบายไม่ได้ปฎิเสธเรื่องของการพัฒนา แต่ว่าในเรื่องของกระบวนการ หรือแผนการพัฒนาฯ แบบรวมศูนย์อำนาจไม่ได้พัฒนาแบบองค์รวม ทำให้ขาดหลายแง่มุมในการพัฒนา เชื่อว่า EEC เป็นความฝันและความคาดหวังของใครหลายคนในขณะเดียวกันต้องเกิดการรับฟัง
จะดีหรือไม่ ? ถ้าทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เพราะแม้จะมีพื้นที่ให้ได้แสดงออหหรือเรียกร้องให้ปรับปรุงแต่หลังจากเรียกร้องแล้วก็ไม่เกิดการปรับปรุงอะไรแม้แต่น้อย สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นจะต้องปรับกันใหม่ตั้งแต่การเปิดพื้นที่รับฟังให้ประชาชนทั่วทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันออกแบบว่าอยากให้มีทิศทางแบบไหนและแผนนี้ต้องสามารถใช้ได้จริง
ปาณิสรา ยืนยั่ง นิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยบูรพา คำว่าการมีส่วนร่วม หมายความว่าเสียงของผู้คนทุกส่วนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมต้องไม่เกิดการกีดกันคนใดคนหนึ่งออกจากกระบวนการ เพราะทุกคนมีสิทธ์ิที่จะวาดฝันอนาคตไปด้วยกันได้
–ทำความรู้จักภาคตะวันออกภายใต้ EEC –
ก่อนจะไปขยายความกันต่อกับภาพอนาคตของพื้นที่ตะวันออก เราชวนทุกคนร่วมทำความรู้จักพื้นที่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกผ่านคลิปวิดีโอด้านล่างนี้
–5 มุมมองกับอนาคตภาคตะวันออกที่อยากเห็น-
การพัฒนาที่มีแนวโน้มว่าจะไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่ปัญหายังคงอยู่ต่อไปด้วยแถมยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วภาพอนาคตที่จะไปต่อนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นโจทย์สำคัญที่เราจะมาร่วมคุยกันกับแขกรับเชิญทั้ง 5 คน
-ผศ. ดร.ชัยณรงค์ เครือนวน ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
-กิตติทัต สืบสำราญ นิสิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
-ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา
-กิตติพงษ์ วัฒนพงษ์วานิช เลขาธิการ YEC ฉะเชิงเทรา
-เฉลิมชัย วัดจัง ฝ่ายวิชาการ Land Watch
การพัฒนาที่ขาดการมองรอบด้านทำให้ปัญหาเขตเศรษฐกิจนี้ไม่เคยจบ
ผศ. ดร.ชัยณรงค์ เครือนวน ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชวนทำความรู้จักภาคภาคตะวันออกในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพื่อเข้าใจภาคตะวันออกที่เป็นอยู่ ก่อนจะนำไปสู่ภาคตะวันออกที่ควรจะเป็น
ความพิเศษของภาคตะวันออก เป็นหนึ่งภูมิภาคที่มีสองภูมิทัศน์ก็คือ ลุ่มน้ำ และชายฝั่ง มี 3 วิถีการผลิตที่สําคัญ วิถีแรก คือ เกษตรกรรม แต่ก่อนเราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล และแหล่งปลูกข้าว ต่อมาเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลัง และยางพารา ภาคตะวันออกมีสวนผลไม้ และทุเรียนขึ้นชื่อ มีประมงพื้นบ้านที่มีมาแต่ดั้งเดิม
วิถีที่สอง คือ การท่องเที่ยวและบริการ วิถีการผลิตแบบนี้เริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่รัฐพยายามที่จะพัฒนาสถานตากอากาศบางแสน ต่อมาเมื่อมีสงครามเวียดนามพัทยาก็เริ่มเป็นที่รู้จักจนกลายเป็นชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก หลังจากนั้นจะเห็นภาพของการท่องเที่ยวเริ่มกระจายจากชายฝั่งไปสู่หมู่เกาะ กระทั่งพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์คลังของการท่องเที่ยวและบริการที่สําคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
วิถีสุดท้าย คือ ภาคอุตสาหกรรม เดิมทีเราก็มีภาคอุตสาหกรรม แต่ลักษณะเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรกรรม เช่น เรามีโรงสีน้ำตาล เรามีโรงหีบอ้อย โรงงานน้ำตาล อุตสาหกรรมที่เข้ามาหลังทศวรรษ 2500 ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่ค่อยเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรกรรม เขาเห็นของการเข้ามาของไทยออยล์ประมาณ พ.ศ. 2507 ต่อด้วยเอสโซ่เครือสหพัฒน์
นอกจากนี้มีความพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การสร้างท่าเรือ ศึกษากันครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ท่าเรือแหลมฉบัง และหลังจากเราได้ท่าเรือสัตหีบคืนมาจากสหรัฐอเมริกา เขาคืนสิทธิ์ท่าเรือสัตหีบให้กับไทย ไทยก็พยายามที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือสัตหีบให้กลายเป็นท่าเรือพาณิชย์ ต่อมาหลังจากนั้นก็เห็นภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทเข้ามาในภาคตะวันออก
สิ่งที่น่าสนใจคืออุตสาหกรรมที่เข้ามาแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับภาคตะวันออกก็คือการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ Eastern Seaboard ต่อมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งก็คือ Eastern Economic Corridor หรือ EEC อย่างที่เรารู้จัก
ในแง่ของความจําเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม เราปฏิเสธอุตสาหกรรมไม่ได้ อุตสาหกรรม คือ กลไกที่สําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมในบริบทหนึ่งก็ทําให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แต่สิ่งหนึ่งถ้าหันกลับมามองในเชิงพื้นที่ คือ อุตสาหกรรมเหล่านี้สร้างผลกระทบ และส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและสิทธิท้องถิ่นของของคนตะวันออก
ชัยณรงค์เล่าต่อว่ามีทีมวิจัยที่สนใจเรื่องความขัดแย้งจากการพัฒนาและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เขาได้ไปโฟกัสเรื่องความขัดแย้งเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะโครงการ EEC เขาถือว่าสิ่งนี้เป็นทั้งตัวเงื่อนไขและเป็นผลผลิตของความขัดแย้ง ผลผลิตของ Eastern Seaboard หลายปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ การกระจุกตัวของรายได้ ปัญหาขยะ ปัญหามลพิษ อันนั้นคือมรดกบาปที่ EEC ได้รับจาก Eastern Seaboard
แต่ในขณะเดียวกัน EEC เองก็ไปสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการไปเปิดพื้นที่ใหม่การพัฒนาที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่ฉะเชิงเทราคือพื้นที่เกษตรกรรมแหล่งผลิตอาหารที่สําคัญของภาคตะวันออกและประเทศ การที่ EEC ไปเปิดพื้นที่เปิดโครงการการพัฒนาทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายรูปแบบทำให้ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องความชอบธรรมในการในการขับเคลื่อนได้ เพราะมีการใช้อำนาจพิเศษเร่งรัดตัดตอน สร้างสภาวะยกเว้น ยกเว้นกฎหมายหลายฉบับเพื่อเร่งรัดการพัฒนาอีกประเด็นที่ขัดแย้งกันมากคือเรื่องของตัวแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน กระบวนการจัดทําแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ถูกตั้งคําถามจากภาคประชาชนถึงเรื่องการมีส่วนร่วมที่มีความหมายและแท้จริง การกําหนดผังเมืองเป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่? หลายพื้นที่ผังเมืองใช้หลักการแบบยึด โครงการ เป็นหลักไม่ได้ใช้เรื่องของ พื้นที่ เป็นหลัก
คู่ความขัดแย้งใน EEC มีใครบ้าง คู่แรกก็คือรัฐและกลไกรัฐกับชุมชนหรือชาวบ้านท้องถิ่น สิ่งที่ขัดแย้งชัดเจนก็คือเรื่องของแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งบางส่วนเขาก็มองว่ามันไม่ได้สอดคล้องกับศักยภาพของของพื้นที่
คู่สองคือความขัดแย้งระหว่างตัวผู้ประกอบการกับชาวบ้าน เรื่องนี้เป็นผลมาจากความพยายามที่จะขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมและที่คู่ความขัดแย้งที่ 3 ก็คือคู่ความขัดแย้งระหว่างตัวชุมชนกับชุมชน ชาวบ้านกับชาวบ้าน เราต้องไม่ลืมว่าการพัฒนา EEC เกิดขึ้นท่ามกลางที่สถานการณ์ที่คนแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อนคนก็มีผลประโยชน์และความเชื่อต่อการพัฒนาแตกต่างกันไป มีคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาสนับสนุนการพัฒนา EEC ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต่อต้านหรือคัดค้าน แต่ว่าถ้าแก้พัฒนาให้ตอบโจทย์พื้นที่ได้และแก้ปัญหาความขัดแย้งไปด้วย เขาคิดว่าเงื่อนไขใหญ่ในการพัฒนาต้องทําให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
ที่ผ่านมาพบว่าการพัฒนาภาคตะวันออกที่เป็นลักษณะการพัฒนาแบบมีคนหนึ่งได้ประโยชน์บนความสูญเสียผลประโยชน์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง อันนี้คือหลักการสําคัญในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็น EEC การพัฒนาขนาดใหญ่หรือการพัฒนาอุตสาหกรรม ทางออกของเรื่องนี้ หนึ่งต้องทําให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้กระบวนการพัฒนาและต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้ความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมทางสังคม สองต้องทําให้กระบวนการพัฒนานําไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้
ผู้เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง
กิตติทัต สืบสำราญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเล่าว่า ตอนนี้เป็นนิสิตและช่างภาพอยู่ เขาบอกว่าเกิดและโตอยู่ที่บางแสนมา 21 ปีแล้ว โตมากับทัศนียภาพที่เป็นธรรมชาติ ข้างหลังภูเขา ข้างหน้าเป็นทะเล ธุรกิจที่บ้านทําเกี่ยวกับร้านขนม ซึ่งการที่ร้านจะขายดีขึ้นได้ก็มาจากนักท่องเที่ยว ในบทบาทช่างภาพลูกค้าที่มาถ่ายภาพก็อยากจะถ่ายภาพตัวเองกับทะเล ถ่ายภาพตัวเองกับภูเขา ในวันนี้การที่ EEC เข้ามา จังหวัดได้สนับสนุนการมีอุตสาหกรรมมากขึ้น ถ้าอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อทะเล ป่าไม้หรือว่าอ่างเก็บน้ำที่เขาใช้ทํามาหากินอยู่ก็จะเริ่มคิดแล้วว่าในอีก 10 ปี ถ้ามลพิษเยอะขนาดนี้แล้วจะทําธุรกิจอะไรต่อดี
โครงการ EEC ปัจจุบันว่ามีส่วนในช่วยในการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและก็ภาคท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้อาจเหลือเพียงแค่ขาเดียวนั่นคือขาอุตสาหกรรมเพราะ EEC ได้ให้ความสําคัญในเรื่องอุตสาหกรรมมากกว่าสิ่งอื่นใด มุมของเขาจริง ๆ แล้วการพัฒนาควรเดินไปข้างหน้าก็จริงแต่ว่าจําเป็นหรือที่เราจะต้องเดินไปข้างหน้าโดยทิ้งคนไว้ข้างหลัง เขามองว่าเรื่องนี้สําคัญเพราะว่าที่อุตสาหกรรมเข้ามาทําให้เกิดปัญหามลพิษไม่ว่าจะเป็นปัญหาคราบน้ำมัน ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นต้น
ส่วนตัวเขาไม่ได้ปฏิเสธอุตสาหกรรมเพราะว่ามีส่วนช่วยในการพัฒนาแล้วก็เรียกเม็ดเงินมหาศาลได้ แต่ว่าการจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมควรจะมีการสร้างแนวเขตให้ดีก่อน อย่างเช่น นาเขาวัง ตําบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขาเคยไปศึกษาพื้นที่นี้พบว่า นาเขาวังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีลุ่มแม่น้ํา 3 น้ำคือ น้ำเค็ม น้ำกร่อยและน้ำจืด การที่ชาวบ้านเขาได้ปรับตัวกับพื้นที่ได้หมายความว่าชาวบ้านสามารถในช่วงฤดูน้ำเค็มเลี้ยงปู เลี้ยงปลา ในท้องนาและในฤดูน้ำจืดสามารถปลูกข้าว สิ่งเหล่านี้คือวิถีชุมชนเป็นภูมิปัญญาที่ควรรักษาไว้ แต่ตอนนี้ตั้งแต่ EEC เข้ามาชาวบ้านได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่กลายเป็นอุตสาหกรรมทั้งหมด กิตติทัตมองว่าน่าเสียดายมากเพราะจะมีพื้นที่อีกสักกี่พื้นที่บนโลกใบนี้ที่สามารถเลี้ยงปลาเลี้ยงปูในท้องนาได้ เขาก็ทราบดีว่าโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมากขึ้นจนเราอาจแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว บอกตรงๆ ว่าสะเทือนใจมากเพราะว่ามันเป็นพื้นที่สีเขียวแต่ก็ล้อมไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม
เขาอยากตั้งคําถามว่าการที่โรงงานอุตสาหกรรมได้เข้ามาใครได้รับประโยชน์จากตรงนี้บ้าง? ใช่ประชาชนที่เขาอยู่แต่ดั้งเดิมหรือไม่? ตอนนี้ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งแผนพัฒนาแล้ว จะมีการโซนนิ่งหาที่ตั้งอุตสาหกรรมเพิ่ม คำถามต่อมาชาวบ้านในพื้นที่เขาจะได้รับการเยียวยาอย่างไรจากทางรัฐ? สิ่งที่อยากชวนมองคืออย่างน้อย ๆ ชาวบ้านที่เขายังเหลืออยู่ในพื้นที่ก็เป็นคน การพัฒนาไม่ควรที่จะทิ้งพวกเขาไว้ด้านหลัง พวกเขายังต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นเต็มไปด้วยโรงงาน เต็มไปด้วยมลพิษ ทีนี้รัฐจะมีวิธีการจัดการกับผู้คนที่เขายังเหลือในพื้นที่ยังไงบ้าง
กิตติทัตอยากให้ EEC เดินไปข้างหน้าได้โดยสามารถเดินไปพร้อมกันทุกฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมจะเป็นพระเอกในเรื่องนี้เพียงหนึ่งเดียว แต่อยากให้ภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทขึ้นมาทําให้ภาคตะวันออกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เช่น บางพื้นที่ไม่ได้เหมาะกับการตั้งอุตสาหกรรมโรงงานก็ไปตั้งพื้นที่นั้น การท่องเที่ยวกลับไม่สนับสนุน เกษตรกรที่เขามีภูมิปัญญาที่ดีอยู่แล้วเรากลับไม่ได้ส่งเสริม ทีนี้ต้องมากับมาฟังเสียงประชาชนว่าจริง ๆ ว่าภาพที่เราอยากเห็นมันเป็นอย่างไร? ตอนนี้มันคล้ายกับว่า EEC กําลังยัดเยียดอุตสาหกรรมไปให้เกษตรกรหรือว่าทุกฝ่ายอย่างที่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
พัทยาไม่นิ่ง ชลบุรีไม่นอน จับตาการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยากล่าวว่า เมืองพัทยามีเป้าหมายเป็นเมืองน่าอยู่ของคนทั้งโลก โดยปัจจุบันสามารถยืนยันได้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาหลังจากฟื้นฟูจากโควิดปีที่แล้วเป็นตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณ 23 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณกว่า 260,000 ล้านบาทต่อปี ปีนี้เข้าใจว่าตัวเลขดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 60% ชาวต่างชาติประมาณ 40% แต่ถ้ากลับไปก่อนโควิดนักท่องเที่ยวจะกลับกันนั่นก็คือตัวเลขที่มีนัยว่าหลังจากการฟื้นฟู คนไทยมาเที่ยวพัทยามากขึ้นแล้วก็คนต่างชาติยังกลับมาไม่มากเท่ากับก่อนโควิด แต่ถ้าเกิดทั้งสองตัวกลับมามากแบบเดิมอีก แสดงว่าตัวเลขก็จะมากขึ้นไปเรื่อย นี่คือในจังหวัดชลบุรีแล้วก็คาดว่าการที่พูดถึงว่าตัวเลขจังหวัดชลบุรีส่วนใหญ่ก็คือจะมาบางแสน พัทยา เมื่อพูดถึงด้านการท่องเที่ยว
เทศบาลเมืองพัทยามองว่าการจะต้องทําอะไรนอกจากจัดการเรื่องการพัฒนาพื้นที่ เช่น การจัดอีเว้นท์ที่มีการทําอยู่ตลอดเวลา มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับแต่ละเดือนแล้วก็มีกิจกรรมที่ให้ภาคเอกชนมาสนับสนุนอย่างเช่น อีกไม่นานพัทยาจะมีงาน Bikini Run มีงานเทศกาลพลุนานาชาติ ซึ่งอันนี้รับรองคนได้ปีที่แล้วประมาณ 400,000 คนในสองวัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้สร้างรายได้ให้พัทยา แต่ว่าสิ่งที่มากกว่านั้นคือมิติของพัทยาตอนนี้ไปสู่การเป็นพัทยา Go Green เทศบาลเมืองพัทยาจะดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เรื่องของคาร์บอนเครดิต การพยายามให้มีการใช้รถไฟฟ้าให้มากขึ้น ตอนนี้เทศบาลเมืองพัทยาร่วมมือกับทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยปทุมธานีและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทําราคากลางของรถ EV เพื่อเอาไปใช้ในส่วนของราชการ
สำหรับมิติของภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรีโชคดีกว่าที่อื่นคือเป็นทั้งอุตสาหกรรมเกษตรและการท่องเที่ยว ดังนั้นการที่มีการมีการพัฒนาจังหวัดในชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นเวอร์ชั่นที่สองจาก Eastern Seaboard สู่ EEC ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เมืองและจังหวัด 3 จังหวัดมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้น แต่ว่าสิ่งที่ต้องดูมากกว่านั้นก็คือมิติของการดําเนินการของโครงการต่าง ๆ ของ EEC เป็นไปตามเป้าหมายหรือเปล่า? อย่างพัทยาเองก็พยายามจะติดตามในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตรงนี้เป็นส่วนที่สําคัญที่จะขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา เมืองพัทยาเองเตรียมรองรับในการทํารถไฟฟ้า ระบบ Monorail ในการศึกษา 3 เส้นทางภายในพัทยาอยู่แล้ว แต่มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะว่ามันเป็นโครงการที่เป็นโครงการร่วมทุนของ PBP ซึ่งโครงการนี้มันต้องมีการเชื่อมโยงระบบขนส่งเสริมจากรถไฟความเร็วสูง ไม่งั้นนักลงทุนคงไม่กล้ามาลงทุนถ้าเป็นโครงการยืนเดี่ยวของรถ Monorail ในพื้นที่
มิติของสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เป็นสิ่งที่โลกให้ความสําคัญ เราจะเห็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือแม้กระทั่งในพื้นที่ของหลายจังหวัดในประเทศ อาทิภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นต้น ส่วนตัวมีความหนักใจในเรื่องของอุตสาหกรรมหนักที่จะมาเกิดขึ้น ในช่วง Eastern Seaboard ถ้าพูดถึงจังหวัดชลบุรีถือว่าโชคดีคืออุตสาหกรรมเบาจะอยู่ที่นี่ อุตสาหกรรมหนักจะอยู่ที่ระยอง โครงการของ EEC ยังเป็นอย่างเช่นนั้นอยู่เช่นท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ก็ไม่ได้เน้นเรื่องท่าเรืออุตสาหกรรมเหมือนทางมาบตาพุดทั้งที่เป็นโครงการเดียวกัน ฉะนั้นก็คงจะต้องดูถึงมิติของสิ่งแวดล้อม ประชาชนอยู่อาศัย นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่จะมาลงทุนใน EEC มุมมองของเขาไม่อยากให้เกิดเหตุที่มีน้ํามันไหลรั่วในทะเลหรือมีเหตุระเบิดจากถังแก๊สอีก นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนักมากๆ ในการที่จะพัฒนาเรื่อง EEC ควบคู่ไปด้วย
เรื่องของกระบวนการผังเมืองตรงนี้มีส่วนสําคัญ ต้องให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนในการที่จะกําหนดแล้วก็ให้ความคิดเห็นในเรื่องของการที่จะทําผังเมืองผังสีต่างๆ แต่ถ้าในส่วนของของเมืองพัทยาเองก็ดําเนินการอยู่ที่ต้องมีการพัฒนาร่วมกันเป็นผังเมืองรวม เพราะว่าปัจจุบันเข้าใจว่า EEC ประกาศไปแล้วและก็กําลังจะทําของแต่ละพื้นที่ตามหลังอยู่ กระบวนการหลังจากนี้ก็จะเป็นส่วนที่ควรจะรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน แง่มุมเรื่องนี้จะมีความหลากหลายที่ไปเกี่ยวข้องหลายส่วน นักธุรกิจก็อยากจะให้ผังตัวเองเป็นสีแดง สีเหลือง จัดสรรได้ ในแง่มุมของคนที่อยากจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็อยากจะให้เป็นสีขาวเขียวเพราะฉะนั้นมันควรจะต้องอยู่ด้วยกันได้และระดมความคิดเห็นร่วมกัน การดําเนินการในช่วงนี้ที่ยังมีเวลาอยู่
การพัฒนาเศรษฐกิจควรเน้นจากสิ่งที่มีในพื้นที่และฟังเสียงของชุมชน
กิตติพงษ์ วัฒนพงษ์วานิช เลขาธิการ YEC ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทรา หลายคนมักนึกถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก หรือไม่ก็จะนึกถึงการเกษตรในพื้นที่บางปะกง แต่สิ่งที่อยากนำเสนอก่อนคือการมองไปที่จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาพื้นที่ นั่นก็คือ การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สามารถผลักดันการเกษตรให้มีความยั่งยืนและต่อยอดไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับชาวบ้านในพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่ช่วยในการเกษตร แต่ยังสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายจังหวัดในประเทศไทยต้องเผชิญ การแก้ไขปัญหานี้จะทำให้พื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการย้ายมาอาศัย หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการลงทุนในพื้นที่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะมั่นใจได้คือ บ้านในจังหวัดฉะเชิงเทรา น้ำไม่ท่วม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่กำลังพิจารณาการย้ายมาอยู่ในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั้งด้านการเกษตรและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างมั่นใจ
ส่วนที่สองก็สาธารณูปโภค ทางฉะเชิงเทราตอนนี้ก็ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้นนะครับ อย่างปีล่าสุดเราก็เป็นการร่วมมือกับทางเทศบาลจัดงาน Coffee Fest ขึ้นมาระยะเวลา 3 วันมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานกว่า 30,000 คน ซึ่งค่อนข้างจะประสบความสําเร็จในการผลักดันการท่องเที่ยว เราก็ร่วมมือกับทาง ททท. และหลายฝ่าย สิ่งนี้ทําให้คิดว่าเราสามารถต่อยอดในหลายอย่างกับคนพื้นที่เพื่อผลักดันในด้านการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาเกษตร การสินค้าเกษตร
สำหรับประเด็นรถไฟความเร็วสูง เขาในฐานะตัวแทนฉะเชิงเทรามองว่า เราเหมือนทางผ่านมากกว่าคนก็จะเทรดจากกรุงเทพมาชลบุรีหรือระยอง แต่สิ่งที่จะทําให้ตัวสินค้าเกษตรผลักดันต่อได้ เขาคิดว่าน่าจะเป็นโครงการที่นําผลิตภัณฑ์ชาวบ้านมาพักเบรกที่จุดสต๊อกในการเดินทางของผู้คนอย่างเช่นสถานีรถไฟที่เกิดขึ้นใหม่ ให้เป็นการส่งเสริมจากเทศบาลหรือว่านโยบายภาครัฐเพื่อส่งเสริมเกษตรกรและมีส่วนลด อาจทําเป็นสมาร์ทการ์ดที่สามารถใช้รถไฟได้หรือใช้ซื้อของได้ ต่อยอดใน Eco System ทั้งระบบ
ประเด็นของโรงงานขยะรีไซเคิลที่กำลังเติบโตในฉะเชิงเทรา เขามองว่าค่อนข้างเกิดขึ้นในหลายแบรนด์มีผลกระทบ สิ่งสำคัญต้องรับฟังพัฒนาและส่งต่อ อาจต้องมีศูนย์รับฟังชาวบ้านและนําข้อคิดหรือว่าข้อเห็นของชาวบ้านมาต่อยอดและส่งต่อ เพื่อให้มันมีผลที่ดีขึ้นไม่ใช่ว่าเราทําครั้งเดียวแล้วได้ผลลัพธ์มาจะบวกจะลบก็ตามเราต้องต่อยอดมันไป เบื้องต้นก็ขอเป็นสํานักงาน EEC ที่รับฟังเสียงและความเห็นจากชาวบ้านก่อน
กิตติพงษ์คิดว่าในส่วนที่จะต่อยอดได้อาจมองในมุมเล็กก่อนเริ่มจากการพัฒนาบุคลากร สร้างความร่วมมือกับสถานที่ศึกษาพื้นที่เพื่อนําปัญหาที่ชาวบ้านไปเจอไปต่อยอดและแก้ไขได้ยังไงบ้าง ปัญหาค่อนข้างจะเป็นมุมกว้างจึงไม่ใช่หน้าที่คนใดคนหนึ่งที่ต้องแบกรับในทุกทุกอย่าง นี่คือการร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้เดินกันต่อไปได้
พัฒนา EEC อย่างไรให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
เฉลิมชัย วัดจัง ฝ่ายวิชาการ Land Watch เล่าว่า ทุกคนอาจมองเห็น EEC มองเห็นผลสําเร็จหรือว่าสิ่งที่พัฒนาไปแล้วภายใต้พ.ร.บ.EEC ทําให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่หรูหราอลังการ มี BOI มีการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเพิ่มในพื้นที่มากมายแต่มันก็อยู่ภายใต้การต่อยอดจาก Eastern Seaboard ต้นแบบ การพัฒนาแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างที่เรากําลังพูดถึงอย่าง EEC ตอนนี้ไม่ใช่ที่แรกที่รัฐพยายามจะทดลองทําการพัฒนาแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในสมัยหลังการรัฐประหารปีพ.ศ.2557 เป็นต้น รัฐบาลคสช.ได้ทดลองการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณชายแดนไปแล้ว 10 แห่ง ผลลัพธ์ก็คือศูนย์ มันเจ๊ง มันไม่มีคนมาลงทุนในพื้นที่ ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน จนกระทั่งเรามาเจอกับพื้นที่ภาคตะวันออกพื้นที่ EEC ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นโชคหรือว่าจะเป็นอะไรดี สำหรับเขาเวลาเดินทางมาตะวันออกทีไรรู้สึกว่าคนตะวันออกน่าอิจฉา เพราะทําเลดีมากหลังมีภูเขาด้านซ้ายมีป่า ด้านข้างมีแม่น้ำบางปะกงข้างหน้ามีหาด
เพราะฉะนั้นทําเลที่ดีขนาดนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตลอดระยะเวลาเวลามีโครงการทดลองอะไรหรือโครงการขนาดใหญ่ฉีกออกมาทางตะวันออกทั้งนั้น เช่น การขุดคลองกันมาตั้งแต่อดีตคลองรังสิตก็ฉีกมาทางฉะเชิงเทรา พื้นที่ตะวันออกมันเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์มาตลอดเวลา พอมาใน Eastern Seaboard ก็ทําให้เห็นว่ามีการใช้ประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่งเข้ามานั่นคือการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เขาอยากจะชวนตั้งข้อสังเกตกับความพิเศษที่เกิดขึ้นภายใต้ EEC คือมันพิเศษสําหรับใคร? เพราะว่าตอนช่วงแรกในช่วงประมาณพ.ศ.2560 เริ่มต้นมาจากความผิดพลาดของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ไม่สําเร็จแล้วมาต่อยอดอยู่บนการพัฒนาที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ตะวันออก คำถามต่อมาคือพี่น้องคนตะวันออกอยู่ตรงไหนของการพัฒนาพิเศษ?
เมื่อหันไปดูคณะกรรมการ EEC ก็มีแต่คณะรัฐมนตรีที่นั่งประชุมกันอยู่แต่ในกรุงเทพ ประชุมกันอยู่ทําเนียบรัฐบาลและก็ออกคําสั่งมาให้คนตะวันออก ซึ่งเขาคิดว่ามันก็เป็นการดูแคลนความสามารถของคนพี่น้องภาคตะวันออกเกินไป เขาเห็นได้ชัดเจนในหลายๆ เมื่อเวลาความพิเศษเข้ามาผ่านนโยบายและกฎหมายโดยอ้างจากรัฐทำให้เกิดการพัฒนารวดเร็วเกินกว่าที่คนในพื้นที่จะเข้าใจได้ อย่างเช่น ตําบลเขาดิน อําเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา วันดีคืนดีพอมีการประกาศใช้เขตผังเมืองของ EEC พื้นที่ตรงนั้นก็เปลี่ยนเป็นสีม่วง ชาวบ้านก็ไม่สามารถจะใช้พื้นที่ตรงนั้นได้ จนทุกวันนี้ก็กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปแล้ว ฉะนั้นเขาคิดว่าการมีส่วนร่วมภาคประชาชนตลอดกระบวนการที่มีการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.EEC ควรต้องตั้งข้อสังเกตแล้วก็ตั้งคําถามว่าเราทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือเปล่า ? เราเผลอปล่อยให้คนที่จําเป็นต้องมีส่วนในการพัฒนามากที่สุดอย่างคนตะวันออกไปไว้ที่ไหนในการพัฒนาที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้
การพัฒนาที่ดินโดยให้คนในพื้นที่ได้ออกแบบคือหมุดหมายที่สำคัญ เพราะว่าก่อนที่จะมีการประกาศเขตพัฒนาพิเศษก็มีการประกาศเขตผังเมืองในแต่ละเมือง แต่ละเมืองเขามีผังเมืองและการสร้างเขตสีไว้อยู่แล้ว ผังเมืองในแต่ละเมืองมีอํานาจไม่ต่างจากธรรมนูญของชุมชนเลยว่าคนในเมืองนั้นจะตกลงให้ที่ดินเหล่านั้นใช้ประโยชน์ในลักษณะแบบไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากสิ่งนี้คิดว่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีมาก ถ้าสํานักงาน EEC อยากจะลองหันมาคุยกับชาวบ้านและมาลองออกแบบกระบวนการสร้างผังเมืองใหม่ เขาคิดว่าอาจทําให้กระบวนการการมีส่วนร่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกอาจดูดีขึ้นมา
— โหวตฉากทัศน์ ภาคตะวันออกที่คุณอยากอยู่ –
หลังจากอ่านข้อมูลและความเห็นจากแขกรับเชิญของเราทั้ง 5 มุมมองแล้ว คุณคิดว่าภาคตะวันออกที่คุณอยากอยู่ควรจะเป็นแบบไหน รายการฟังเสียงประเทศไทยมี 3 ฉากทัศน์มาให้คุณลองเลือกดังต่อไปนี้
ฉากทัศน์ 1 เมืองอุตสาหกรรมที่รัฐนำพาความเจริญ
EEC เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ ที่มีรัฐเป็นผู้หนุนเสริม เชื่อมโยงโครงข่ายทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อสร้างให้ไทยเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถ ราง เรือ และทางอากาศ แต่ภายใต้โอกาสของการลงทุน คนในพื้นที่ต้องรับมือกับความล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว ธุรกิจการลงทุนจำนวนมากอยู่ในมือทุนใหญ่จากต่างชาติ ขณะที่ความเป็นเมืองที่เติบโตทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าหาตลาดงานและโอกาสทางการเงิน นำมาซึ่งปัญหาสังคมหลากหลายด้าน
รัฐรวมศูนย์ในการวางแผนการพัฒนา และเป็นหลักในการวางมาตราการกำกับ ดูแล และแก้ปัญหาผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจและการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กฎหมายควบคุม ป้องกัน และเยียวยาฟื้นฟู รวมไปถึงวางระเบียบในการเอาผิดกับผู้ก่อผลกระทบ แต่การจัดการแบบรวมศูนย์อาจมีความล่าช้า และไม่เท่าทันสถานการณ์ในพื้นที่ รัฐอาจยังคงต้องเหนื่อยหนักในการแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
กลุ่มประชากรเปราะบางที่หวังพึ่งพารัฐ อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบจากการพัฒนาได้ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาชีพเพื่อความอยู่รอด
ฉากทัศน์ 2 เมืองเศรษฐกิจที่เคารพสิทธิการพัฒนา
หัวใจสำคัญของการพัฒนาคือการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยประชาชนเพื่อประชาชน ต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่ออุดรอยรั่วที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่มุ่งเพียงส่งเสริมการลงทุน แต่ต้องสร้างความเป็นธรรม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่เคารพสิทธิในการพัฒนา คำนึงถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อฐานทรัพยากรของท้องถิ่น และพยายามสร้างความสมดุล ส่งเสริมให้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นคงความหลากหลาย พัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมทันสมัย
รัฐลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งส่งเสริมด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ขณะที่ท้องถิ่นและประชาชนหนุนช่วยกัน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แบ่งปัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
มีแผนการทำงานในระดับท้องถิ่น เติมความรู้ เครื่องมือ และงบประมาณ ให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวังดูแลทรัพยากร ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือมาตรการป้องกันก่อนเกิดผลกระทบ
ฉากทัศน์ 3 เมืองที่ร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม
ชุมชมคือผู้กำหนดการพัฒนา โดยทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ทบทวนทิศทางจากในอดีตที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่หลากหลายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิต อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ นำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำ และส่งผลให้ไทยไม่สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ไม่ใช้กฎหมายและกลไกลนโยบายพิเศษที่กำหนดเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมหรือการลงทุนขนาดใหญ่ แต่มุ่งเน้นการพัฒนาตามศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดตลอดห่วงโซ่การผลิตจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้นวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสานกับชุดข้อมูล วิทยาการ และเทคโนโลยีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโอกาสของชุมชนในโลกยุคใหม่ แต่ต้องมีกำลังของภาครัฐ และสถาบันวิชาการร่วมส่งเสริม ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาองความรู้ กำลังคน และระบบนิเวศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาที่มีศูนย์กลางจากชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนาฯ ทั้งหมดทุกความเห็นที่ได้ถ่ายทอดสามารถรับฟังแบบเต็มได้ข้างล่างนี้