
ท่ามกลางกระแสการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ….” หรือที่เรียกกันว่า “ร่างกฎหมายกาสิโน” รัฐบาลอธิบายเหตุผลอย่างเป็นทางการว่า เป็นความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดึงดูดการท่องเที่ยว และสร้างรายได้จากภาษีในอนาคต โดยชี้ว่า “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ไม่ได้หมายถึงการทำให้การพนันถูกกฎหมายทั้งประเทศ แต่เป็นการเปิดทางให้มีพื้นที่จำกัดที่สามารถดำเนินกิจการเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน องค์กรศาสนา สถาบันการศึกษาต่าง ๆ และอีกหลากหลายองค์กรจากทั่วประเทศได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน โดยให้เหตุผลว่า การเปิดให้มีสถานบันเทิงครบวงจรที่รวมถึงกาสิโนนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางจริยธรรม คุณธรรม และโครงสร้างของครอบครัวและชุมชนในระยะยาว ทั้งยังสะท้อนทิศทางของรัฐที่อาจนำสังคมไทยห่างออกจากหลักการพื้นฐานทางวัฒนธรรมและศีลธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพลวัตของศาสนา วัฒนธรรม และระบบนิติธรรมที่ซ้อนทับกันอยู่ องค์กรทางศาสนาอิสลามและสถาบันการศึกษาของมุสลิม ได้แสดงจุดยืนอย่างเข้มข้นผ่านการออกแถลงการณ์ พร้อมวิงวอนให้รัฐทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมีมติเห็นพ้องให้เลื่อนการพิจารณาญัตติด่วนดังกล่าวออกไป โดยให้เหตุผลถึงความเร่งด่วนของปัญหาอื่น เช่น เหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือและข้อพิพาทด้านภาษีระหว่างประเทศ แต่ยืนยันว่า “ร่างกฎหมายยังไม่ได้ถูกถอนออก” และจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสมัยประชุมถัดไป
ในห้วงเวลาแห่งความคลุมเครือนี้เอง กองบรรณาธิการ แลต๊ะแลใต้ ได้โอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ดือเระ อาจารย์ประจำสาขาอิสลามศึกษาและกฎหมายอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการผู้ติดตามและศึกษาประเด็นด้านกฎหมาย สังคม สิทธิมนุษยชนและความเปราะบางของกลุ่มคนชายขอบในพื้นที่ชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจมุมมองของเขาต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เพียงในฐานะนักวิชาการมุสลิม แต่ยังในฐานะนักนิติศาสตร์ที่หยิบยกมิติเชิง “Jurisprudence” หรือ “ปรัชญากฎหมาย” มาวิเคราะห์อย่างลุ่มลึก
“เราคงไม่สามารถมองกฎหมายนี้แค่ในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องถามให้ลึกไปถึง ‘หลักฐานทางจริยธรรม’ ที่รัฐใช้ในการตัดสินใจด้วย” อาจารย์สุทธิศักดิ์กล่าวในช่วงต้นของการสนทนา โดยชี้ให้เห็นว่า กฎหมายที่รัฐกำลังจะบัญญัติขึ้นอาจขัดแย้งกับ “บรรทัดฐานทางสังคม” ที่คนในประเทศยึดถือ และอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้าใจผิด และความเหลื่อมล้ำในการใช้กฎหมายในระยะยาว
ศีลธรรมร่วม – ความตื่นรู้ของสังคมต่อร่างกฎหมายกาสิโน
อาจารย์สุทธิศักดิ์วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ว่าไม่ใช่เพียงแค่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไป แต่คือสัญญาณของการตระหนักรู้ร่วมกันในระดับศีลธรรมของสังคม ที่แม้จะมีความแตกต่างด้านศาสนา วัฒนธรรม หรือถิ่นที่อยู่ แต่ก็ยืนอยู่บนจุดร่วมเดียวกันว่า “การพนันไม่ใช่สิ่งที่ควรสนับสนุนในระดับโครงสร้างของรัฐ”
“ศีลธรรมเรื่องการพนันเป็นสิ่งที่ห้ามในทุกศาสนา
พุทธ มุสลิม คริสต์ หรือแม้แต่ฮินดู
เป็นคุณค่าร่วมกันของสังคมมนุษย์
ที่รู้ว่าการพนันนำไปสู่ปัญหาในระยะยาว”
— ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ดือเระ
แม้ภาครัฐอาจใช้เหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างการเก็บภาษีหรือการหมุนเวียนเงินในประเทศ เพื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็ชี้ให้เห็นชัดว่าการทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไป
นอกจากนี้ การอ้างอิงถึงประเทศที่เปิดคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ก็ไม่สามารถเทียบเคียงได้โดยตรง เพราะโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายและวินัยทางสังคมของไทยยังไม่เข้มแข็งพอ “สิงคโปร์หรือมาเลเซียบังคับใช้กฎหมายได้จริง แต่เมืองไทยยังลักลอบให้เด็กเข้าผับอยู่เลย แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเปิดคาสิโนจะไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์เหมือนเดิม”
กาสิโนในประเทศที่ประสบความสำเร็จมักตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนเขาหรือกลางทะเลทราย ไม่ใช่ในเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่าน เพราะการออกแบบเช่นนั้นช่วยจำกัดการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางในสังคม ปัญหาการพนันไม่ได้เกิดจากการมีหรือไม่มีคาสิโนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ต้องการการแก้ไขอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของธุรกิจบันเทิง
ทางเลือกของการพัฒนา
“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ไม่เท่ากับ “เศรษฐกิจบาป”
อาจารย์สุทธิศักดิ์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพนันไม่ใช่เพียงเรื่องของความบันเทิง แต่คือสิ่งที่นำมาซึ่ง “ความเสพติด” และ “พฤติกรรมเสี่ยง” ที่บั่นทอนชีวิตของผู้คนในระยะยาว จากประสบการณ์และบทความที่อาจารย์ได้ศึกษาจากกรณีของเม็กซิโก พบว่าแม้เมืองหนึ่งจะเริ่มต้นด้วยการเปิดกาสิโนเพื่อสร้างรายได้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรม แก๊งมาเฟีย และปัญหาสังคมในวงกว้าง การพนันนำไปสู่พฤติกรรมเสียทรัพย์แบบหมดตัว หลายคนขายบ้าน ขายที่ดิน เพียงเพื่อต้องการถอนทุนคืน กลายเป็น “ผีพนัน” โดยไม่รู้ตัว สถานการณ์นี้จึงไม่เพียงเป็นปัญหาของมุสลิมเท่านั้น หากแต่สะเทือนถึงโครงสร้างสังคมโดยรวม
แนวคิดการนำคาสิโนไปตั้งในพื้นที่ห่างไกลไม่ว่าจะเป็นเกาะหรือเขตทุรกันดาร เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ กลับสะท้อนถึงการขาดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่สร้างรายได้ ก็หันไปพึ่งคาสิโน ซึ่งเป็นแนวทางที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบนโยบาย กรณีตัวอย่างอย่างโมนาโกที่อ้างว่าเป็นต้นแบบของคาสิโนหรู ก็ไม่สามารถเป็นคำตอบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขการคัดคนเข้าอย่างเข้มงวด และเป็นพื้นที่พิเศษที่แยกตัวจากบริบทสังคมปกติ ในขณะที่ไทยไม่มีระบบกลั่นกรองที่เข้มแข็งพอจะควบคุมได้ เช่น ข้อกำหนดว่าต้องมีเงินมากกว่า 50 ล้านบาทนั้น ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้อย่างแท้จริงว่าเงินนั้นมาจากแหล่งใด
แม้รัฐจะเสนอแนวคิดว่า คาสิโนจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วง Low season หรือสามารถจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ได้นั้น ล้วนเป็นการ “ขายฝัน” มากกว่าความเป็นจริง เพราะกิจกรรมที่อยู่ร่วมกับคาสิโน เช่น โซนเครื่องเล่น หรือความบันเทิงต่าง ๆ มักเป็นเพียงฉากประกอบ ในขณะที่รายได้หลักมาจากการพนันทั้งสิ้น และพฤติกรรมการท่องเที่ยวจริงของผู้คนก็มิได้สอดคล้องกับแนวคิดนี้เสมอไป ประเทศไทยยังมีทางเลือกอื่นอีกมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนใน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งสามารถสร้างรายได้ เพิ่มงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตโดยไม่ต้องแลกกับความเสี่ยงทางสังคมแบบ Sin economy หรือ เศรษฐกิจบาป “เหนือสิ่งอื่นใดที่เราพูดถึงสิ่งนี้ มันหมายความว่าเรามีคุณค่ามากกว่าที่เราจะไปเล่น (พนัน)” — คำพูดนี้สะท้อนความตั้งใจของอาจารย์ที่ต้องการให้สังคมไทยเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง มากกว่าการพึ่งพาการพนันซึ่งเป็นเพียงทางลัดที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง
เมื่อกฎหมายไร้เขี้ยวเล็บ:
คำถามต่อกาสิโนในสังคมที่บังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียม
ประเด็นสำคัญในข้อถกเถียงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ไม่ได้อยู่ที่เพียงการออกกฎหมาย หากแต่อยู่ที่ “การบังคับใช้กฎหมาย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดระเบียบสังคมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในต่างประเทศ หลายประเทศที่พัฒนาแล้วมีกฎหมายไม่มากนัก แต่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในประเทศไทย แม้จะมีกฎหมายครอบคลุมหลายด้าน แต่การบังคับใช้อย่างไม่สม่ำเสมอและมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ ทำให้เกิดช่องว่างที่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน
“เรามีลอตเตอรี่ที่ถูกกฎหมาย แต่หวยใต้ดินก็ยังอยู่
เรามีกัญชาถูกกฎหมาย แต่ของเถื่อนก็ยังมี
การเปิดกาสิโนก็เหมือนกัน มันไม่ได้ทำให้พนันเถื่อนหายไป
คนระดับล่างก็ยังเล่นไฮโล หรือแทงบอลเหมือนเดิม”
— ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ดือเระ
สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย คือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยที่ยังอ่อนแอ และเปิดช่องให้เกิดการทุจริต เช่นเดียวกับที่เราเห็นในกรณีการห้ามขายบุหรี่หรือพอตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งแม้จะมีกฎหมายชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับล้มเหลว
ในมุมของการทำให้สิ่งเสพติดบางประเภทถูกกฎหมาย ที่ผ่านมาทั้งกระท่อมหรือกัญชา พบว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้จำนวนผู้บริโภคลดลง กลับทำให้พฤติกรรมการบริโภคกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่ระบบการควบคุม การห้ามขายน้ำกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์ต่อยอด ยังคงถูกละเมิด การขาดความเข้มงวดในการกำกับดูแลยิ่งส่งเสริมให้เกิด “นวัตกรรมในการหลบเลี่ยงกฎหมาย” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปัญหาสังคมในบริบทไทย
กรณีคาสิโน แม้จะมีข้ออ้างว่าเป็นการนำกิจกรรมผิดกฎหมายขึ้นมาสู่ระบบเพื่อควบคุมและจัดเก็บรายได้ แต่กระบวนการผลักดันกลับเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามากำหนดทิศทางโดยไม่มีกลไกของรัฐในการควบคุมราคา หรือดูแลผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การผลักดันให้ถูกกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะสามารถควบคุมปัญหาสังคมได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่มีทุนทรัพย์สูงก็ยังคงเล่นการพนันในรูปแบบเดิมตามแหล่งชุมชนอยู่ดี ประเด็นทางศีลธรรมและความชอบธรรมของรัฐในการอนุญาตให้มีคาสิโนยังเป็นสิ่งที่กระทบต่อจิตสำนึกของประชาชนสังคมไทยในวงกว้าง เพราะ เมื่อรัฐอนุญาต ก็เหมือนเป็นการให้ความชอบธรรมกับกิจกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมในเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่ความสับสนทางจริยธรรมในสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่อาจเข้าใจผิดว่าการพนันกลายเป็นสิ่งถูกต้องตามหลักการและไม่ก่อให้เกิดอันตราย
สุดท้าย ความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่ออกมาคัดค้านร่วมกันแสดงจุดยืนอย่างเป็นเอกภาพ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับลึก หากสามารถรวมพลังกันอย่างจริงจัง โดยไม่จำกัดอยู่เพียงในกรอบของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เปิดกว้างให้ทุกกลุ่มที่ห่วงใยสังคมเข้ามามีบทบาทร่วมกัน ก็อาจเป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเป็นการสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงต่อนโยบายสาธารณะในอนาคต