นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้บริโภคกว่า 1,200 รายหนุน กสทช.พิรงรอง รามสูต ชี้จำเป็นต้องกำกับดูแล OTT เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ตามปรากฏรายงานข่าวศาลอาญาคดีทุจริต นัดพิพากษาคดี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ในวันที่ 6 ก.พ. ที่จะถึงนี้ หลังทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการมีมติให้สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการทีวีดิจิทัล ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์เท่านั้นจึงจะมีสิทธินำสัญญาณของทีวีดิจิทัลไปออกตามกฎมัสต์แครี่ และต้องนำไปออกโดยไม่มีการดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการแทรกโฆษณาหรือตัดเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใด จนนำไปสู่การยื่นฟ้องโดยบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

ขณะที่ช่วงเย็นของวานนี้ (4 ก.พ) เครือข่ายนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ผู้บริโภคร่วมเรียกร้อง และลงชื่อสนับสนุน พร้อมชวนติดตามการพิพากษาคดี 6 ก.พ. นี้ ล่าสุดทีมงาน #Saveพิรงรอง แจ้งว่ามีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุน ณ 12:00 น. ของวันที่ 5 ก.พ. 2568 จำนวน 1,203 รายชื่อ ประกอบด้วย กลุ่มนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 350 ราย สื่อมวลชน/นักวิชาชีพด้านสื่อทั้งสื่อมวลชนอิสระ ผู้ผลิตสื่อ/คอนเทนต์ นักเขียน บุคลากรสถานีวิทยุโทรทัศน์/วิทยุและสื่อชุมชน ตลอดจนองค์กรด้านผู้บริโภค ภาคประชาสังคม (สภาองค์กรของผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคระดับจังหวัด นอกจากยังรวมถึงบุคลากรภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนร่วมลงนาม

ทั้งนี้ กลุ่มsaveพิรงรอง ยังเปิดรับรายชื่อผู้สนับสนุน หรือผู้ประสงค์จะร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอต่อไป ผ่านทางลิงก์ https://tally.so/r/3NbP4j

สำหรับความคิดเห็นของผู้ร่วมลงนาม ทางกลุ่มฯได้ประมวลความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ สามารถจัดกลุ่มประเด็นหลัก ๆ ได้ดังนี้

1. บทบาทของ กสทช.

  • กสทช. ควรเป็นเจ้าภาพในการเจรจากับแพลตฟอร์ม OTT เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค
  • ควรให้ผู้ให้บริการ OTT อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เช่นเดียวกับ IPTV
  • กสทช. ควรมีอำนาจในการตักเตือน เนื่องจากเป็นองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค
  • สนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคโดย กสทช. เพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากภาคเอกชน
  • ควรมีการพิจารณาปรับปรุงระเบียบหรือกฎหมายในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
  • บอร์ด กสทช. ควรเร่งออกแนวทางกำกับดูแล OTT เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน
  • การกำกับดูแลของ กสทช. ควรมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของประชาชน

2. ปัญหาในการกำกับดูแลผู้ประกอบการ

  • ประเทศไทยยังขาดกลไกในการกำกับดูแล OTT ทำให้เกิดปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภค
  • ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าสมาชิก OTT แต่ยังคงต้องดูโฆษณา ซึ่งไม่เป็นธรรม
  • ปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงและยัดเยียดเนื้อหาให้ผู้บริโภคโดยไม่มีการคัดกรอง
  • กสทช. ไม่มีอำนาจกำกับดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่าน OTT อย่างชัดเจน
  • กฎหมายควรมีความชัดเจนและครอบคลุมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
  • บริษัท OTT บางแห่งใช้ข้ออ้างเรื่องกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม เพื่อหลีกเลี่ยงการกำกับดูแล

3. พฤติกรรมของผู้ประกอบการที่เป็นปัญหา

  • ผู้ให้บริการ OTT บางรายแทรกโฆษณาโดยที่ผู้บริโภคกดข้ามไม่ได้
  • มีการนำช่องโหว่ทางกฎหมายมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
  • การใช้โฆษณาที่เกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค
  • ระบบโฆษณาของ TrueID มีการแทรกโฆษณามากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน
  • การล็อกคอนเทนต์บางรายการ ทำให้ผู้ใช้ TrueID TV ต้องสมัครบริการของคู่แข่งเพื่อรับชม
  • การโฆษณาแฝงในกล่อง True ID และแพลตฟอร์มออนไลน์สร้างความรำคาญและเอาเปรียบผู้บริโภค

4. ความเห็นสนับสนุนศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง

  • สนับสนุนการทำงานของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ที่ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
  • กสทช. ควรสนับสนุนแนวทางการทำงานของ ดร.พิรงรอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค
  • เห็นว่าการทำหน้าที่ของ ดร.พิรงรอง เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส
  • สนับสนุนให้ กสทช. มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล OTT เพื่อประโยชน์ของสังคม
  • ควรมีการปกป้องผู้ทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ ไม่ให้ถูกฟ้องร้องจากภาคเอกชน

5. ความเห็นกรณีคดีฟ้องร้องระหว่าง True และพิรงรอง

  • การทำงานของ ดร.พิรงรอง เป็นไปเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ไม่ควรถูกฟ้องร้อง
  • คดีนี้สะท้อนถึงปัญหาของการที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • คำตัดสินของศาลมีผลต่อแนวโน้มการกำกับดูแลสื่อในไทย
  • คดีนี้ควรได้รับความสนใจจากสาธารณะ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบกำกับดูแล OTT
  • การที่ภาคเอกชนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

“กสทช. ควรเป็นเจ้าภาพในการเจรจากับแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะ OTT เพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จากนั้นร่วมกับหลายภาคส่วนหาแนวทางการกำกับดูแลร่วมกันที่เหมาะสม” – สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค

ปัจจุบัน บอร์ด กสทช. มีมติให้ OTT เป็นกิจการในการกำกับดูแลแล้ว ตั้งแต่ปี 2560 สนง.กสทช. ควรเร่งออกแนวทางในการกำกับดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เด็กเยาวชน ในเนื้อหาที่เข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางแล้ว ไม่ใช่เพียงบนวิทยุหรือโทรทัศน์เท่านั้น  – ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันใช้ ทรูวิชันส์ ทุกครั้งที่เปิดกล่องจะมีโฆษณาขึ้นมาก่อนการเข้า Live TV ซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และสงสัยว่าแบบนี้สามารถทำได้หรือไม่ ในมุมของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายรายเดือนควรมีสิทธิเลือกที่จะไม่อนุญาตให้มีโฆษณาคั่น เหมือนบน platform YouTube ที่เหมือนจ่าย premium โฆษณาก็จะถูกตัดออกไป จึงอยากให้มีการเพิ่มกฎในเรื่องนี้กำกับ OTT  – ผู้บริโภค พนักงานบริษัทเอกชน

กฎหมายต้องมีความชัดเจน และ ในระหว่างที่ยังไม่ชัดเจนครอบคลุม ต้องอาศัยดุลยพินิจของผู้ที่กำกับดูแล โดยยึดหลักผู้บริโภคเป็นสำคัญ OTT ต้องหารายได้ก็จริง แต่ก็ไม่ควรมีการหารายได้ในรูปแบบที่ทับซ้อน หรือไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค การกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการ OTT โปร่งใสเป็นเรื่องที่จำเป็น  – ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คดีนี้จะชี้นำต่อไปครับว่าคณะกรรมการที่ทำหน้าที่โดยสุจริตแต่หากต้องได้รับโทษที่มาจากการฟ้องร้องของหน่วยงานเอกชน ต่อไปคงไม่มีใครอยากทำหน้าที่นี้ รวมถึงอำนาจของหน่วยงานเหล่านี้ก็จะลดลง และถูกกลืนไปเพราะขนาดกรรมการของสำนักงานยังอาจโดนคดีอาญาได้ อย่างไรก็ตามปัญหาอีกอย่างมาจากช่องของการกำกับที่แม้ intent จะสื่อรวมได้ แต่ก็ยังมีช่องให้ตีความเรื่อง OTT จึงควรเร่งปรับปรุงเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีหรือสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอำนาจของสำนักงานนี้ หรือสำนักงานอื่นที่จะมากำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ผลิตสื่อ โดยบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ครองตลาดในทุกตลาด 🙂 ถ้าไม่สนใจในตอนนี้ ตอนเหลือแต่เจ้าใหญ่ แข่งขันไม่ได้ คณะกรรมการก็โดนฟ้อง และอาจผิดอาญา ต่อไปจะยิ่งหนักกว่านี้นะครับ  – ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นรายหนึ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แชร์บทความนี้