
ยะลา เมืองชายแดนใต้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีผังเมืองดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีผังเมืองยอดเยี่ยมอันดับที่ 23 ของโลกในปี 2560 ไม่เพียงเพราะโครงสร้างถนนที่มีระเบียบแบบตารางหมากรุก ศูนย์กลางเมืองที่ออกแบบเป็นวงเวียนสามชั้นล้อมรอบด้วยหน่วยงานราชการ และพื้นที่สีเขียวที่กระจายตัวทั่วเมืองเท่านั้น หากแต่เป็น เทศบาลนครแห่งเดียวของพื้นที่ชายแดนใต้ แม้เมืองจะมีขนาดเล็ก 19.4 ตารางกิโลเมตร แต่การออกแบบผังเมืองอย่างเป็นระบบตั้งแต่เริ่มสร้างเมือง ด้วยการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน ทั้งราชการ พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และนันทนาการ
ความพิเศษของยะลาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในเชิงกายภาพ หากยังมี “ความมีชีวิตของเมือง” ที่เกิดจากความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ ชาวมลายูมุสลิม ชาวไทยพุทธ ชาวจีน และชาวซิกข์ ที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีศาสนสถานของศาสนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดกลางยะลา วัดยะลาธรรมาราม ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา แสดงถึงประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายอย่างลึกซึ้งมายาวนาน ในอดีต ตลาดและย่านชุมชนต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนต่างศาสนามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างคึกคัก ตลาดมะพร้าว ตลาดรวมมิตร หรือชุมชนหลังวัดเมืองยะลาที่มีทั้งวัดและมัสยิดในบริเวณเดียวกัน ความสัมพันธ์เหล่านี้สะท้อนถึงยะลาในฐานะ “เมืองแห่งความสัมพันธ์” มากกว่าจะเป็นเพียงเมืองที่สวยด้วยผังเมือง
อย่างไรก็ตาม ความงดงามเหล่านี้ถูกท้าทายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ในปี 2520 และเหตุความไม่สงบที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง ทำให้ชาวไทยพุทธจำนวนมากอพยพออกจากเมือง ส่วนชาวมลายูมุสลิมก็มีแนวโน้มเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่เคยแน่นแฟ้นเริ่มห่างไกล ร้านค้าค่อย ๆ ปิดตัวลง พื้นที่ตลาดจากที่เคยมีชีวิตชีวากลับกลายเป็นพื้นที่เงียบเหงา ถนนกลายเป็นวันเวย์ และด่านตรวจกลายเป็นภาพคุ้นตา แต่แม้จะเผชิญวิกฤตซ้ำซ้อน เมืองยะลาไม่เคยสิ้นหวัง เพราะเบื้องหลังความเงียบ ยังมีเสียงของผู้คนที่ยังเชื่อในพลังของเมืองแห่งนี้ ผู้คนที่มองเห็นอนาคตของยะลาในฐานะเมืองที่ยังสามารถกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ทั้งในมิติของความปลอดภัย เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการ “แลต๊ะแลใต้” ได้ร่วมลงพื้นที่จัดกระบวนการและถ่ายทอดสดออนไลน์ รายการ ฟังเสียงประเทศไทย ตอน อนาคตเมืองยะลา ณ ห้อง Auditorium อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TKpark Yala) เพื่อร่วมกันฟังเสียงของผู้คนที่ยังศรัทธาในเมืองนี้ และเชื่อว่าท่ามกลางเหตุรุนแรง ความเปลี่ยนแปลง เมืองยะลายังไม่สิ้นความหวัง กิจกรรมในครั้งนี้นำการแลกเปลี่ยนพูดคุยโดย ผศ.ดร.สมัชชา นิลปัทม์ ในฐานะ ผู้ดำเนินรายการ (facilitator) ซึ่งทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากหลากหลายภาคส่วนร่วมกันกำหนด “ภาพอนาคต” ของเมืองยะลา ผ่านกระบวนการพูดคุย แลกเปลี่ยน และฟังเสียงซึ่งกันและกัน
ผู้เข้าร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเมืองจากหลากหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา ธุรกิจสร้างสรรค์ ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ และคนรุ่นใหม่ ได้แก่ วันอิฮซาน ตูแวสิเดะ – ครูโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ/นักวิจัยโครงการ Yala Learning City, กิตติศักดิ์ ปัตตานี – ผู้ประกอบการ/สตาร์ทอัปคนรุ่นใหม่, รักชาติ สุวรรณ – อดีตประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ที่ปรึกษาชุมชนคูหามุข, ธิปัตยา คงสุวรรณ – ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม/ผู้จัดการวงออร์เคสตร้ายะลา, ดร.นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง – ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ ศิราวรรณ อุ่นทะยา – ผู้ประกอบการร้านกาแฟ ในบทความนี้ เราจะชวนผู้อ่านสำรวจว่า “ฉากทัศน์เมืองยะลา” ในสายตาของประชาชนคืออะไร และพวกเขามอง “ภาพอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้น” ผ่านเงื่อนไขของความไว้เนื้อเชื่อใจ และความสัมพันธ์ที่มีชีวิตอย่างไร
ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการสนทนา ได้ชวนผู้เข้าร่วมให้มองเมืองยะลาในมุมใหม่ ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมอย่าง “My Yala Makeover” ที่พัฒนาโดยทีม Public Intelligence (PI) สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และกิจกรรม “Yala Collage” ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสื่อสารภาพฝันเมืองยะลาของตนเองผ่านภาพถ่าย ภาพตัดแปะ และคำสำคัญ (Key words) ก่อนจะนำไปประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อแปลงจินตนาการเหล่านั้นให้เห็นเป็นภาพเมืองในอนาคตอย่างชัดเจน

ภาพของยะลาที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่จึงค่อย ๆ ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นความฝันเล็ก ๆ ของผู้คนธรรมดาที่อยากเห็นบ้านเกิดกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง วงสนทนาในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหาคำตอบสำเร็จรูป หากแต่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ร่วมกันมองย้อนอดีต สำรวจปัจจุบัน และจินตนาการถึงอนาคตของเมืองยะลา
“หนึ่งอย่างที่อยากรักษาไว้” และ “หนึ่งอย่างที่อยากเปลี่ยนแปลง”
ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการสนทนา เมื่อชวนให้ผู้เข้าร่วมได้วอร์มความคิดก็ปรากฏความหวัง ความห่วงใย และความฝันหลากหลายต่อเมืองแห่งนี้ โดยให้ร่วมกันแลกเปลี่ยนว่า “ถ้ามีไม้กายสิทธิ์เสกได้หนึ่งสิ่งให้ ‘คงอยู่’ และอีกหนึ่งสิ่งให้ ‘เปลี่ยนแปลง’ เพื่ออนาคตของเมืองยะลา คุณจะเลือกอะไร?” เสียงแรกของวงสนทนาพูดถึง “ความสัมพันธ์ที่หลากหลาย” หรือ “พหุวัฒนธรรม” ที่ผู้คนในพื้นที่พยายามรักษาไว้ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิม ต่างอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติ แม้ภายนอกจะมีสื่อบางส่วนเสนอภาพความขัดแย้ง แต่ความจริงในพื้นที่คือความสัมพันธ์ที่มั่นคง โดยในช่วงหนึ่งมีเข้าร่วมได้กล่าวว่า “ถ้าพื้นที่เรามั่นคง คนนอกทำอะไรเราไม่ได้”
ขณะที่ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่งกล่าวถึง “มิตรภาพไร้เส้นแบ่ง” กับเพื่อนมุสลิม ที่ร่วมเดินทาง ท่องเที่ยว และใช้ชีวิตโดยไม่มีการแบ่งแยก พร้อมย้ำว่า “อยากให้ความสงบและสันติสุขเกิดขึ้นในยะลาโดยเร็ว และอยากให้ยั่งยืนตลอดไป” นอกจากนี้ ยังมีเสียงที่อยากรักษาความเป็น “เมืองแห่งการศึกษา” ด้วยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่ระดับอนุบาล ชั้นประถมไปจนถึงอุดมศึกษา รวมถึงสายอาชีวะ สาธารณสุข และโรงเรียนกีฬา ซึ่งสะท้อนภาพยะลาในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ควรได้รับการต่อยอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกมุมหนึ่งของการรักษาคือ “ความสะอาด” ของเมือง ซึ่งได้รับรางวัลประกวด 3 ปีซ้อน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองสะท้อนถึงความใส่ใจของท้องถิ่นในการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
พร้อมกันนั้น ยังมีการกล่าวถึง “โต๊ะน้ำชา” หรือ “โต๊ะกาแฟ” ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของวิถีชีวิตคนยะลา เป็นพื้นที่พบปะ พูดคุย และสร้างความเข้าใจของผู้คนหลากรุ่นหลายวัย แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป แต่หลายคนยังเชื่อว่า “ยะลาจะคงความเป็นยะลาได้ ถ้ายังมี way of life ที่เป็นยะลาอยู่” สุดท้ายคือ “วัฒนธรรมประเพณี” ที่เคยเห็นพี่น้องมุสลิมนั่งปูเสื่อชมหนังตะลุงร่วมกับชาวพุทธ ภาพเหล่านี้กลายเป็นความทรงจำที่แสดงถึงความกลมกลืนและความงดงามของการอยู่ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังสะท้อนเสียงถึง “สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง” เกือบทุกเสียงล้วนสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน คือ “ความไม่สงบ” ที่ยังคงเป็นเงาสะท้อนในชีวิตของผู้คน สิ่งที่พวกเขาอยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือการเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้กลับมาเป็น “เมืองแห่งความสงบ” และ “เมืองแห่งสันติสุข” มีเสียงที่ชวนให้ “เปลี่ยน mindset” จากภาพจำในอดีตที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง มาสู่ความเชื่อมั่นว่า “ยะลาสามารถเจริญรุ่งเรืองได้” และผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีรอยยิ้ม ผ่านพลังของการท่องเที่ยว การศึกษา กีฬา และกิจกรรมร่วมกัน
อยู่ร่วมกันอย่างไว้ใจ “ฉากทัศน์เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิต” ภาพอนาคตที่ชาวยะลาเลือก
ผลโหวตจากวงประชาชนสนทนาเรื่องอนาคตของเมืองยะลาได้เผยให้เห็นภาพสะท้อนทางความรู้สึกและความกังวลใจของผู้คนในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าฉากทัศน์ “ยะลา เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิต” ไม่ได้ถูกเลือกเพียงเพราะเป็นภาพในอุดมคติของเมืองที่น่าอยู่เท่านั้น แต่เป็นการส่งเสียงจากผู้คนที่เคยประสบและยังคงเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมืองยะลาที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชุมชนหลากศาสนา หลากวัฒนธรรม กลับต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่บั่นทอนความเชื่อใจ และลดทอนพื้นที่ของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี 2520 หรือเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งส่งผลให้ภาพของเมืองที่เคยมีชีวิตชีวากลายเป็นพื้นที่เงียบเหงา เต็มไปด้วยด่านตรวจ ถนนวันเวย์ และความรู้สึกไม่มั่นคง
ในบริบทนี้ ฉากทัศน์ “เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิต” จึงเป็นมากกว่าวิสัยทัศน์เชิงผังเมืองหรือการออกแบบสถาปัตยกรรม หากแต่เป็น “ความหวังร่วมกัน” ของผู้คนที่ต้องการฟื้นฟูสายใยความสัมพันธ์ที่เคยดำรงอยู่ การที่ฉากทัศน์นี้ได้รับการโหวตสูงสุดจึงอธิบายได้ว่า ชาวยะลายังโหยหาความรู้สึกของการเป็น “เจ้าของเมืองร่วมกัน” ความรู้สึกที่ว่าทุกคนยังมีที่ยืน มีเสียง และมีโอกาสในการออกแบบอนาคตร่วมกันโดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากผลการลงคะแนนเสียงทั้งสองรอบภายในวงประชาชนสนทนา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างยิ่งในกระบวนการตัดสินใจของผู้ร่วมกิจกรรม ผลโหวตรอบแรก แสดงให้เห็นว่าภาพอนาคตของเมืองยะลาทั้งสามแบบ ได้แก่ “เมืองสีเขียวต้นแบบของไทย” (ฉากทัศน์ที่ 1), “เมืองอัจฉริยะที่ใส่ใจ” (ฉากทัศน์ที่ 2) และ “เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิต” (ฉากทัศน์ที่ 3) ต่างได้รับคะแนนที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีแบบใดโดดเด่นเป็นเอกฉันท์ คะแนนของเมืองสีเขียวมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่ห่างจากอีกสองตัวเลือกมากนัก ภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ร่วมกิจกรรมมีความลังเล และยังคงประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี หรือความสัมพันธ์ทางสังคม
แต่ใน ผลโหวตรอบที่สอง หลังจากผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฟังเสียงซึ่งกันและกัน ฉากทัศน์ “เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิต” กลับได้รับเสียงสนับสนุนอย่างทิ้งห่างจากอีกสองแนวทาง นี่ไม่ใช่เพียงการเลือกภาพฝันที่งดงามเท่านั้น หากแต่เป็นการตระหนักร่วมกันว่า “สายใยความสัมพันธ์” และ “การมีส่วนร่วม” คือหัวใจของเมืองที่ชาวยะลาต้องการ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจชี้ให้เห็นว่า การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนา ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ทบทวนคุณค่าและบริบทที่แท้จริงของตนเอง เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิตจึงไม่ใช่แค่แนวคิด แต่คือประสบการณ์ร่วมที่ผู้คนสัมผัสได้จริง และเชื่อว่าเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ในขณะที่อีกหนึ่งทางเลือกอย่าง “ยะลาเมืองอัจฉริยะที่ใส่ใจ” แม้จะมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิต และการบริหารจัดการเมือง มีระบบแจ้งเตือนเรื่องภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลโหวตสะท้อนว่าประชาชนบางกลุ่มยังมีความกังวลถึง “ต้นทุน” ทั้งในแง่เศรษฐกิจและจิตใจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจไม่เข้าถึงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุหรือคนจนเมือง ขณะเดียวกัน การติดตั้งระบบเฝ้าระวังทั่วเมืองก็อาจทำให้ผู้คนรู้สึก “ไม่เป็นส่วนตัว” หรือขาดความสบายใจ แม้เมืองจะใส่ใจมากแค่ไหนก็ตาม
ด้าน “ยะลา เมืองสีเขียวต้นแบบของไทย” ก็เป็นอีกฉากทัศน์หนึ่งที่เน้นสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน แต่ผลโหวตกลับแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังลังเล เนื่องจากฉากทัศน์นี้อาจต้องแลกมาด้วยการ “โยกย้ายชุมชน” และความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างที่กระทบวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แม้เมืองสีเขียวจะมีระบบการจัดการที่ดี และผลักดันแนวคิด Zero Waste รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว แต่ความท้าทายอยู่ที่ “จิตสำนึกสาธารณะ” ซึ่งยังต้องอาศัยเวลาและการขับเคลื่อนร่วมกันจากทุกภาคส่วน
เมื่อพิจารณาจากผลโหวตโดยรวม จะเห็นว่า “ความสัมพันธ์มาก่อนเทคโนโลยีและเมืองสีเขียว” เป็นเสียงสะท้อนสำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะที่เมืองอัจฉริยะอาจดูห่างไกลหรือจับต้องได้ยากกว่าสำหรับชีวิตประจำวัน และ “การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมคือหัวใจ” ของเมืองที่ทุกคนใฝ่ฝัน ฉากทัศน์ที่ได้รับการโหวตสูงสุดคือฉากที่เปิดโอกาสให้ประชาชนออกแบบเมืองร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่รับนโยบายจากส่วนกลางหรือหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ ยังสะท้อนความห่วงใยต่อความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนแปลง แม้ทั้งสามฉากทัศน์จะมีเป้าหมายที่ดี แต่ชาวยะลาให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ “กลุ่มเปราะบาง” มากกว่าความทันสมัยเพียงอย่างเดียว
สิ่งที่คนยะลากังวลใจมากที่สุดไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาเมืองในเชิงโครงสร้างเพียงอย่างเดียว หากแต่คือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อ “สายใยความสัมพันธ์” ที่เคยขับเคลื่อนชีวิตประจำวันของผู้คน การเลือกฉากทัศน์เมืองสัมพันธ์ที่มีชีวิตจึงเปรียบเสมือนการยืนยันว่า เมืองในฝันของชาวยะลาไม่ใช่เมืองที่ทันสมัยที่สุด หรือมีสิ่งแวดล้อมดียั่งยืนที่สุด แต่คือเมืองที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เมืองที่ผู้คนยังมองตากันและไว้ใจกันได้ เมืองที่แม้จะมีบาดแผล แต่ก็ยังพร้อมจะเยียวยาร่วมกันได้ ด้วยความหวัง ด้วยความเข้าใจ และด้วยความสัมพันธ์ที่มีชีวิตอยู่เสมอ
